• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรมอุทยานฯ ชี้แจงคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ร่วมพิจารณาแผนแก้ไขปัญหาช้างป่าแห่งชาติ เร่งผลักดันกองทุนเงินเยียวยาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากช้างป่า

วันที่ 3 เมษายน 2568 – นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้าง ได้มอบหมาย นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมด้วยนายวีระขุน ไชยรักษ์ รองอธิบดีฯ นายเฉลิม พุ่มไม้ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า พร้อมเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาติดตามผลการดำเนินงานและศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่าอย่างยั่งยืน และรายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาช้างป่า เพื่อให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง และความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาช้างป่าแห่งชาติ พ.ศ. 2568-2572 รวมถึงปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการ ตลอดจนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ณ ห้องประชุม 604 ชั้น 6 อาคารรัฐสภา

อธิบดีกรมอุทยานฯ ได้นำเสนอภาพรวมของแผนปฏิบัติการฉบับใหม่ ซึ่งมุ่งเน้นการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ให้เกิดความต่อเนื่อง ยกระดับการจัดการให้สอดรับกับสภาพปัญหาปัจจุบัน และเชื่อมโยงกับนโยบายของประเทศ โดยแผนปฏิบัติการฉบับนี้ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อบรรเทาปัญหาช้างป่าที่ออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ ลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและช้างป่า พร้อมส่งเสริมการอนุรักษ์และจัดการช้างป่าอย่างยั่งยืน ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาช้างป่าแห่งชาติ พ.ศ. 2568-2572 (ฉบับใหม่) ประกอบด้วย 5 บทสำคัญ ครอบคลุมตั้งแต่บทนำ ข้อมูลสถานการณ์ช้างป่า การดำเนินงานที่ผ่านมา แผนปฏิบัติการ และการขับเคลื่อนแผนสู่การปฏิบัติ โดยกำหนดมาตรการ 6 ด้าน และแนวทางปฏิบัติ 10 แนวทาง พร้อมกิจกรรมเร่งด่วน 7 กิจกรรม

มาตรการสำคัญประกอบด้วยการจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อเป็นแหล่งอาศัยของช้างป่า การจัดการแนวป้องกัน การสนับสนุนชุดเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า การช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ การจัดการพื้นที่รองรับช้างป่าอย่างยั่งยืน และการจัดการประชาสัมพันธ์รวมถึงการควบคุมประชากรช้างป่า

กิจกรรมเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ ได้แก่ การสร้างระบบเครือข่ายเชื่อมโยงการทำงานระหว่างหน่วยงาน การเพิ่มประสิทธิภาพชุดเฝ้าระวัง การพัฒนาระบบเตือนภัยและรับแจ้งเหตุแบบรวดเร็ว การสร้างความตระหนักรู้ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ การพัฒนาระบบช่วยเหลือเยียวยาแบบเบ็ดเสร็จ การจัดตั้งศูนย์ปรับพฤติกรรมช้างป่าที่ก้าวร้าว และการศึกษาวิจัยเทคโนโลยีเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า

คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ให้ความสำคัญกับการติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาช้างป่าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ช้างป่ากับการคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด