วันที่ 7 ก.พ. 2567 จากกรณีที่นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์ุพืช ลงนามในคำสั่งกรมอุทยานฯที่ 522/2567 ลงวันที่ 6 ก.พ.67 เรื่องให้ข้าราชการไปปฏิบัติราชการ จำนวน 1 ราย โดยบัญชีแนบท้ายคำสั่งคือ ให้ นายไพฑูรย์ อินทรบุตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส ส่วนประสานความร่วมมือด้านทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 ให้ไปปฏิบัติราชการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป นั้น
นายอรรถพลฯ เปิดเผยว่าในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี เกิดเหตุไฟไหม้ป่าลุกลามขึ้นหลายจุด บางพื้นที่มีสถานการณ์ที่รุนแรงมากขึ้น และพบว่ามีจุด HOTSPOT เกิดขึ้นจำนวน 34 จุด พื้นที่ไฟไหม้สะสมรวม 231 จุด สูงสุดกว่าทุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และปล่อยให้ลุกลามบานปลายไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งที่กรมอุทยานแห่งชาติฯได้กำหนดนโยบายและแนวทางในการป้องกันควบคุมไฟป่าไว้อย่างชัดเจน ว่ามีขั้นตอนการปฏิบัติอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้กำชับหัวหน้าพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทุกแห่งอย่างเข้มงวดแล้ว ดังนั้น จึงได้ลงนามในคำสั่งย้ายหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เพื่อความเหมาะสมในการป้องกันไฟป่าต่อไป ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นข่าวที่ว่า นายไพฑูรย์ฯ แสดงการคัดค้านแนวอุโมงค์ผันน้ำ ผ่านพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ แต่อย่างใด
ทั้งนี้ เมื่อวันนี้ 6 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มอบหมายให้นายนฤพนธ์ ทิพย์มณฑา ผู้อำนวยการสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า นายอนันต์ โพธิ์พันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เดินทางลงพื้นที่ สถานีควบคุมไฟป่าสลักพระ-เอราวัณ จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อบัญชาการเหตุการณ์ควบคุมสถานการณ์ไฟป่า ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ พบว่ามีจุด HOTSPOT ในช่วงเวลา 12.46 น. จำนวนทั้งสิ้น 9 จุด จึงได้มีการลงพื้นที่บินตรวจไฟป่า พร้อมบัญชาการจัดชุดระดมกำลังพลเข้าพื้นที่ดับไฟ จำนวน 180 นาย ในพื้นที่ 7 กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่เสือไฟ เจ้าหน้าที่ไฟป่า และเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า โดยได้รับการสนับสนุนอากาศยานจากกองการบิน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สำหรับการพบจุดความร้อนทำให้เกิดไฟป่าขึ้นในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระนั้น เกิดจากฝีมือมนุษย์ที่ลักลอบเผาเพื่อต้องการล่าสัตว์ป่าและการเก็บหาของป่าให้ง่ายขึ้น จุดความร้อนที่ทำให้เกิดไฟป่าจึงมักเกิดขึ้นบนภูเขาทำให้ยากต่อการเข้าไปดับได้ทันท่วงที ทั้งนี้อธิบดีฯ ได้สั่งการให้หัวหน้าป่าอนุรักษ์ที่มีสถานการณ์ไฟป่าที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรง ให้ทำการประกาศห้ามบุคคลเข้าไปในพื้นที่ป่า เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาการเกิดไฟป่าลุกลาม และให้ดำเนินการตามแนวทางการปฏิบัติงาน นโยบายด้านการป้องกันไฟป่าของกรมอุทยานแห่งชาติฯที่กำหนดไว้ รวมทั้งให้เพิ่มความเข้มงวดในการตั้งจุดตรวจ จุดสกัด และต้องประสานแจ้งข้อมูลกับผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ให้รับทราบถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วย