“ช้าง” เป็นสัตว์ที่มีความเกี่ยวข้องกับสถาบันหลักของประเทศ ได้แก่ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์และผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทยเสมอมา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และการใช้ประโยชน์รวมถึงความเชื่อต่าง ๆ ช้างเป็นสัตว์ชนิดเดียวที่ได้รับยศถาบรรดาศักดิ์ชั้นสูงเช่นเดียวกับขุนนางและได้รับการคุ้มครองก่อนสัตว์ชนิดอื่น ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระราชบัญญัติรักษาช้างป่า พุทธศักราช 2443 (รัตนโกสินทร์ศก 119) ก่อนที่จะมีการตราพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2503 ซึ่งกำหนดให้ช้างป่า เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ชนิดที่ห้ามล่าและค้า ทำให้คณะรัฐมนตรีได้มีมติเสนอให้วันที่ 13 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันช้างไทย อันเป็นวันที่ตรงกับการทำยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชา และทรงมีชัยชนะ โดยประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 เพื่อให้ประชาชนคนไทยสนใจช้าง รักหวงแหนช้าง ให้ความสำคัญต่อการช่วยเหลือและอนุรักษ์ช้างมากขึ้น รวมถึงเป็นการยกย่องให้เกียรติช้างว่าเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญต่อชาวไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเพื่อให้คนหันกลับมาเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ช้างไทยมากยิ่งขึ้น และคณะกรรมการได้คัดเลือกสัตว์ประจำชาติ มีมติให้ “ช้างเผือก” เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นไทย
สำหรับประเทศไทย มีช้างอยู่ 2 สถานะ คือ ช้างป่า กับช้างเลี้ยงหรือช้างบ้าน ซึ่งช้างป่า อยู่ภายใต้การกำกับดูแลตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ส่วนช้างบ้านหรือช้างเลี้ยง อยู่ภายใต้การกำกับดูแลตามพระราชบัญญัติสัตว์พาหนะ พ.ศ. 2482
ปัจจุบันช้างป่ามีจำนวนประชากรอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ ประมาณ 4,013-4,422 ตัว ในพื้นที่อนุรักษ์ทั้งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า และอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน จำนวน 91 แห่ง (ข้อมูลวันที่ 9 มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นข้อมูลที่อยู่ระหว่างการสำรวจและการประเมินประชากรช้างป่าทั่วประเทศ ปี 2566) และภายในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติบางแห่ง ในแต่ละพื้นที่การกระจายสามารถพบช้างป่าได้ตั้งแต่น้อยกว่า 10 ตัว ไปจนถึง 200 – 300 ตัว โดยกลุ่มป่าที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ประชากรช้างป่าได้แก่ กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าตะวันออก กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว และกลุ่มป่าแก่งกระจาน แม้ว่าในประเทศไทยแนวโน้มประชากรช้างป่าโดยรวมค่อนข้างคงที่ อย่างไรก็ตามการสำรวจติดตามและศึกษาประชากรช้างป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายแห่งในประเทศไทย พบว่าส่วนใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
พื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายแห่งที่เป็นถิ่นอาศัยของช้างป่าถูกแบ่งแยกเป็นหย่อมป่า (Habitat Fragmentation) ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัจจัยหลักก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาที่ช้างออกมาทำลายพืชผลทางการเกษตรของราษฎรที่อาศัยใกล้ชิดตามแนวขอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ปัจจุบันปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างเกิดขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์กว่า 49 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งปัญหาดังกล่าวยังมีแนวโน้มว่าจะขยายตัวและมีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีนโยบายเกี่ยวกับการช้างป่าและการบริหารจัดการพื้นที่ เพื่อการอนุรักษ์ช้างป่าตลอดจนลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า ซึ่งประกอบไปด้วย การป้องกันและการเฝ้าระวังช้างป่าออกนอกพื้นที่ เช่น การจัดชุดเคลื่อนที่เร็วเพื่อผลักดันช้างกลับคืนสู่ป่า การสร้างคูกันช้างป่า การสร้างรั้วไฟฟ้า การปลูกพืชเพื่อเป็นรั้วธรรมชาติ การศึกษาวิจัย ได้แก่ การศึกษาประชากรและโครงสร้างชั้นอายุของช้างป่า การแพร่กระจาย พฤติกรรมการกินอาหาร การเคลื่อนย้ายฝูง รูปแบบการใช้ประโยชน์พื้นที่ของช้างป่าเพื่อปรับปรุงแหล่งน้ำแหล่งอาหาร งานวิจัยเพื่อพัฒนารูปแบบสิ่งกีดขวางเพื่อป้องกันช้างป่าออกหากินในพื้นที่เกษตรกรรม การฟื้นฟูและปรับปรุงถิ่นอาศัยของช้าง เช่น การปลูกพืชอาหาร การรักษาและสร้างแหล่งน้ำ แหล่งโป่งสำหรับช้างป่า การจ่ายค่าชดเชย โดยกองทุนพืชอาหารช้างป่าแห่งประเทศไทย หรือ Thailand’s Wild Elephant Food Security Fund (TEFS) เพื่อเยียวยาราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากกรณีช้างป่าเข้าทำลายพืชผลทางการเกษตร และการประชาสัมพันธ์และสร้างเครือข่ายการอนุรักษ์ช้างป่า เช่น สนับสนุนการจัดตั้งกองทุนสำหรับช้างป่าและการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนในเรื่องพฤติกรรมของช้างป่าและการปฏิบัติตนเมื่อพบช้างป่า การอนุรักษ์ช้างป่ายังต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกๆ ภาคส่วนอีกมาก ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการอนุรักษ์ประชากรช้างป่าของไทย ประชาชนทุกคนก็ต้องมีส่วนร่วมเป็นเครือข่ายอนุรักษ์ช้างป่าในการป้องกันและคุ้มครองพื้นที่ป่าไม้ซึ่งเป็นบ้านของช้างป่า ให้สามารถเป็นแหล่งอาศัยที่สมบูรณ์และมีความยั่งยืน
ทั้งนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และจัดการช้าง จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้าง เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2565 โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้มีการบูรณาการความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินการอนุรักษ์ จัดการ และแก้ไขปัญหาช้างให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการอนุรักษ์และจัดการช้างในภาพรวมเป็นไปอย่างมีระบบ เหมาะสมและยั่งยืน กรมอุทยานแห่งชาติฯ มีนโยบายเกี่ยวกับการจัดการช้างป่าและการบริหารจัดการพื้นที่ เพื่อการอนุรักษ์และการจัดการประชากรช้างป่าให้มีปริมาณที่สมดุล ขจัดปัญหาระหว่างคนกับช้างป่า คุ้มครองป้องกันการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับช้างป่า เกิดการอนุรักษ์และจัดการช้างป่าอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน ประกอบไปด้วย 4 ยุทธศาสตร์ 3 เป้าหมาย ได้แก่
ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและการจัดการช้างป่า ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวังป้องกันโดยการสร้างแนวตรวจการณ์ช้างป่าในพื้นที่วิกฤต, จัดจ้างพนักงานเฝ้าระวังช้างป่า,สร้างและปรับปรุงสิ่งกีดขวางเพื่อป้องกันช้างออกนอกพื้นที่, ส่งเสริมชุมชนในพื้นที่เสี่ยงสร้างแนวป้องกันช้างป่า รวมไปถึงจัดการและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านช้างป่า โดยการรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับช้างป่าตามแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน, องค์ความรู้ด้านการป้องกันตัวจากช้าง
ยุทธศาสตร์ที่ 2 : การรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ได้แก่ การสำรวจ ติดตามโครงสร้างประชากร การศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรม (DNA) รวมถึงการการศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมของการทำแนวเชื่อมต่อป่า (Corridor) และการประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม เป็นต้น
ยุทธศาสตร์ที่ 3 : การจัดการพื้นที่เพื่อคนและช้างป่า ประกอบไปด้วย การสำรวจและประเมินศักยภาพของพื้นที่, การศึกษาการจำแนกพื้นที่การใช้ประโยชน์ (Zoning) ในแต่ละพื้นที่, สร้าง ฟื้นฟู และปรับปรุงแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร รวมถึงการประเมินพื้นที่รองรับช้างที่มีปัญหา, เคลื่อนย้ายช้างป่าไปยังพื้นที่มีศักยภาพในการรองรับ
ยุทธศาสตร์ที่ 4 : การเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อความยั่งยืน ได้แก่ การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์ช้างป่า, การศึกษาและส่งเสริมรูปแบบการเกษตรที่เหมาะสม, การสร้างความเข้าใจกับประชาชน, ส่งเสริมการทำประกันทรัพย์สินและพิจารณาชดเชยความเสียหายที่เป็นธรรม
เป้าหมายที่ 1 : การพัฒนาพื้นที่ป่าอนุรักษ์ : ได้ดำเนินการร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมปศุสัตว์ ในการเร่งดำเนินงานฟื้นฟูป่า พัฒนาแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร ทั้งพืชอาหารช้าง ทุ่งหญ้าอาหารช้าง และโป่ง ให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อดึงช้างป่ากลับสู่ผืนป่าใหญ่ รวมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐและภาคประชาชน
เป้าหมายที่ 2 : การพัฒนาพื้นที่แนวกันชน : ที่ปัจจุบันช้างป่าใช้เป็นที่อยู่อาศัยทั้งอยู่ประจำและออกมาหากินเป็นครั้งคราวในช่วงฤดูแล้ง ได้ประสานงานกับกรมป่าไม้และกรมทรัพยากรน้ำในการดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำ แหล่งอาหารสำหรับช้างป่า ตามเส้นทางการเคลื่อนตัวของช้าง สร้างจุดพักช้างในป่าชุมชนเพื่อดึงดูดให้ช้างกลับคืนสู่ป่าใหญ่ รวมทั้งพัฒนาระบบติดตามและเฝ้าระวังช้างป่า โดยจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Elephant smart early warning system) เพื่อกระจายข้อมูลไปยังเครือข่ายเจ้าหน้าที่และชุมชนต่าง ๆ โดยรอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยการจัดทำหรือสร้างสิ่งกีดขวาง ป้องกันช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ (รั้ว คูกั้นช้าง รั้วไฟฟ้า) ได้ดำเนินการไปแล้ว
เป้าหมายที่ 3 : การพัฒนาพื้นที่ชุมชน :ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า เริ่มต้นจากการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจให้แก่ชุมชนเรื่องพฤติกรรมของช้างป่าและการปฏิบัติต่อช้าง ทั้งท้องที่ ท้องถิ่นและประชาชน ในการอยู่ร่วมกันกับช้างป่า รวมทั้งสร้างเครือข่ายชุมชนอนุรักษ์ช้างป่า (เครือข่ายเฝ้าระวังช้างป่าและสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์) พัฒนาแหล่งน้ำชุมชนแยกจากแหล่งน้ำช้างป่า ส่งเสริมให้เกิดป่าชุมชนร่วมกับภาครัฐ สร้างกลุ่มอาสาสมัครเฝ้าระวัง ป้องกัน และแจ้งเตือนภัยจากช้างป่า เป็นต้น