ด้วยยอดสูงสุดที่ 1,964 เมตรจากระดับทะเลปานกลางของโมโกจู จึงเป็นเสมือนแม่เหล็กแรงสูงที่ดึงดูดให้นักเดินทางขึ้นไปสัมผัส เช่นเดียวกับนกเงือกคอแดง นกภูหงอนพม่า นกหางรำหางยาว และนกมุ่นรกหน้าผากน้ำตาล ที่หาดูได้ไม่ยากที่แม่วงก์ ขณะที่ธารน้ำตกงาม ก็มีมากมายหลายแห่ง ทั้งแม่รีวา แม่กี และโด่งดังที่สุดก็คือ แม่กระสา ที่เป็นสุดยอดของน้ำตกแห่งเมืองกำแพงเพชร
แม่วงก์ อุทยานแห่งชาติในลำดับที่ 54 ของประเทศครอบคลุมเนื้อที่กว่า 894 ตารางกิโลเมตร ในเขตอำเภอปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชร และอำเภอแม่วงก์ อำเภอแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ โดยได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2530
ด้วยความสูงเหนือระดับทะเลปานกลางถึง 1,964 เมตร นั้น ไม่เพียงแต่จะทำให้ “โมโกจู” คือ ยอดเขาที่สูงที่สุดของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์แล้ว ยังเป็นยอดเขาที่สูงสุดเหนือบรรดายอดเขาในอุทยานแห่งชาติทั้งหลายในเขตภาคเหนือตอนล่างอีกด้วย และท่ามกลางธรรมชาติที่มนุษย์ยากจะไปถึงด้วยระยะทางเดินเท้า 32 กิโลเมตรทำให้แม่วงก์เป็นจุดสิ้นสุดของพรรณพืชในเขตอบอุ่นจากเทือกเขาหิมาลัยที่กระจายพันธุ์มาถึงแม่วงก์เป็นแหล่งรวบรวมของความหลากหลายทางชีวภาพของพืชพรรณไม้และสัตว์ป่าที่ยอดเยี่ยมแห่งหนึ่งในประเทศไทย เช่น การพบนกกว่า 400 ชนิด ที่น่าสนใจ ได้แก่ นกมุ่นรกหน้าผากน้ำตาล นกเงือกคอแดง นกภูหงอนพม่า นกเขนน้ำเงิน นกกินปลีหางยาวเขียว เหยี่ยวท้องแดง นกอินทรีดำ และนกเปล้าหางเข็มหัวปีกแดง พรรณไม้ที่มีถิ่นอาศัยเฉพาะของป่าแม่วงก์ คือ ปาหนันแม่วงก์ และพืชที่มีการกระจายพันธุ์เฉพาะในเขตภูเขาสูงในผืนป่าตะวันตก คือ เทียนหางสั้น
นอกจากนั้น ยังเป็นหนึ่งในที่สุดของยอดเขาที่นักนิยมธรรมชาติ และผู้พิชิตทั้งหลายใฝ่ฝัน ปรารถนาที่จะฝากรอยเท้าและความประทับใจไว้บนยอดหินผา บริเวณใกล้เคียงยังเป็นแหล่งกำเนิดของสายน้ำตกที่สวยงาม อย่างเช่น น้ำตกแม่กระสา น้ำตกขนาดใหญ่ซึ่งมีทั้งหมด 9 ชั้น รวมความสูงกว่า 1,000 เมตร มีน้ำไหลแรงตลอดปี น้ำตกแม่กีที่มีทั้งหมด 9 ชั้นและสูงถึง 200 เมตร และน้ำตกแม่รีวา ที่สวยงามที่สุดในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์
การเดินทางจากจังหวัดนครสวรรค์ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ตรงไปจนถึงอำเภอคลองขลุงแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1242 ไปอีกประมาณ 40 กิโลเมตร จากนั้นจึงเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 1072 ไปอีก 12 กิโลเมตรจนพบกับสี่แยกคลองลาน ให้เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1117 (คลองลาน-อุ้มผาง) ตรงต่อไปอีกประมาณ 19 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ
ที่มา.. หนังสือที่สุดอุทยานแห่งชาติในประเทศไทย สำนักอุทยานแห่งชาติ (ISBN 978-616-316-504-6)