• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ลูกวัวแดงอายุ 5 เดือน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอ่างฤาไน ตายสภาพคล้ายติดโรคลัมปีสกิน

วันที่ 23 กันยายน 2564 นายอนุชา กระจายศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) ได้รับรายงานจากนางสาวมัชฌมณ แก้วพฤหัสชัย หัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) จ.ฉะเชิงเทรา รายงานว่าได้รับการประสานจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน แจ้งว่ามีลูกวัวแดงเสียชีวิต จึงเข้าทำการตรวจสอบ พบลูกวัวแดง เพศเมีย อายุประมาณ 5 เดือน น้ำหนักประมาณ 50 กิโลกรัม จากการตรวจสอบพบผิวหนังทั่วลำตัวมีตุ่มและแผลตกสะเก็ดจำนวนมาก รอยโรคที่ผิวหนัง สงสัยว่าเป็นโรคลัมปีสกิน จึงทำการผ่าพิสูจน์ซากผลการผ่าซากปรากฏผล ดังนี้
1.ผิวหนัง พบตุ่มแผลหลุมบนชั้นผิวหนัง เส้นผ่านศูนย์กลาง ขนาด 1-3 เซนติเมตร กระจายทั่วร่างกาย
2. ต่อมน้ำเหลือง พบต่อมน้ำเหลืองบริเวณโคนขาหนีบด้านซ้าย (ขนาดยาว 7 เซนติเมตร) โตกว่าข้างขวา (ขนาดยาว 3 เซนติเมตร)
3. ปอด เนื้อปอดบางส่วนมีการคั่งเลือด
4. ม้าม พบจุดเลือดออกขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วขอบม้าม
จึงได้เก็บตัวอย่างเลือด และชิ้นเนื้อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจพิสูจน์ยืนยันผลโรคลัมปีสกิน และโรคสำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสาเหตุการตาย
เมื่อผ่าพิสูจน์และเก็บตัวอย่างเรียบร้อย ได้ทำการฝังกลบและโรยปูนขาวตามหลักวิชาการเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคต่อไป


สำหรับโรคลัมปี สกิน เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่สำคัญในโคกระบือ แต่ไม่ใช่โรคที่ติดสู่คนได้ เกิดจากเชื้อไวรัส 𝘓𝘶𝘮𝘱𝘺 𝘴𝘬𝘪𝘯 𝘥𝘪𝘴𝘦𝘢𝘴𝘦 𝘷𝘪𝘳𝘶𝘴 ในสกุล 𝘊𝘢𝘱𝘳𝘪𝘱𝘰𝘹𝘷𝘪𝘳𝘶𝘴 สัตว์ที่ติดเชื้อจะมีไข้สูง ต่อมน้ำเหลืองโต และมีตุ่มขนาดใหญ่ ประมาณ 2-5 เซนติเมตร ขึ้นที่ผิวหนังทั่วร่างกาย พบมากที่คอ หัว เต้านม ถุงอันฑะและหว่างขา ตุ่มที่ขึ้นอาจแตก ตกสะเก็ดและเกิดเป็นเนื้อตาย หรือมีหนอนแมลงมาไชได้ อาจพบตุ่มน้ำใสขึ้นที่เยื่อเมือก ทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร ทำให้มีอาการน้ำลายไหล ตาอักเสบ มีตุ่มขึ้นที่เยื่อเมือกตา น้ำตาไหลและมีขี้ตา
นอกจากนี้สัตว์ที่ติดเชื้อจะมีอาการซึม เบื่ออาหาร อาจมีภาวะเป็นหมันชั่วคราวหรือถาวร แท้งลูกและมีปริมาณน้ำนมลดลง อัตราการป่วยอยู่ที่ 5 – 45 % อัตราการตายน้อยกว่า 10% แต่อาจมีอัตราการตายสูงในพื้นที่ที่ไม่เคยมีการระบาดมาก่อน

โรคนี้เริ่มแพร่ระบาดในเอเชียตั้งแต่ปี 2562 ในจีนแผ่นดินใหญ่ บังกลาเทศ และอินเดีย หลังจากนั้น ในปี 2563 พบการระบาดในภูฏาน เนปาล ศรีลังกา ฮ่องกง ไต้หวัน เวียดนามและพม่า ประเทศไทยมีการติดตามสถานการณ์ในต่างประเทศและเฝ้าระวังโรคตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา รวมถึงการประกาศชะลอการนำเข้าโคกระบือจากประเทศพม่า โรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease) เป็นโรคระบาดตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558

อย่างไรก็ตาม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า พันธุ์พืช ได้วางมาตรการการป้องกันมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ให้โรคลัมปีสกินระบาดลุกลามสู่สัตว์ป่า โดยสั่งการทุกพื้นที่ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาด และบูรณาการกับหน่วยงานในจังหวัดและทุกภาคส่วนในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว รวมถึงสร้างความเข้าใจกับราษฎร และติดตามสัตว์ป่าในพื้นที่อย่างใกล้ชิด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด