• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรมอุทยานฯ แจง 4 ประเด็น ข้อเรียกร้อง คชท. ค้านขึ้นทะเบียนมรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจาน

วันที่ 28 กรกฎาคม 2564 นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยถึง กรณีที่สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าว เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.) ออกแถลงการณ์ต่อกรณีกลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ โดยระบุว่าเครือข่ายฯ มิอาจร่วมแสดงความยินดีต่อการขึ้นทะเบียนมรดกโลกดังกล่าวได้เนื่องจากไม่มีการขอฉันทามติและการยินยอมจากชุมชน สะท้อนว่ามีการละเลยและไม่คำนึงถึงสิทธิของชุมชนดั้งเดิมที่อยู่อาศัยมาก่อนการประกาศพื้นที่อนุรักษ์ พร้อมทั้งเรียกร้องให้เร่งแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของชาวกะเหรี่ยง ยกฟ้องดำเนินคดีกับชาวบ้านบางกลอยในข้อหาบุกรุกและทำลายป่า ยุติการคุกคามต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ลงไปให้ความช่วยเหลือชาวบ้าน และรับฟังความคิดเห็นและเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลก

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ขอเรียนว่า ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 44 ณ เมืองฝูโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2564 ได้ประกาศให้ขึ้นทะเบียนพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก  ภายใต้หลักเกณฑ์ข้อที่ 10 คือเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความสําคัญสูงสุดสําหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นกําเนิด ซึ่งรวมไปถึงถิ่นที่อาศัยของชนิดพันธุ์พืช และ/หรือชนิดพันธุ์สัตว์ ที่มีคุณค่าโดดเด่นเชิงวิทยาศาสตร์ หรือเชิงอนุรักษ์ระดับโลก สำหรับ ประเด็นที่เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.) เรียกร้องนั้น ขอเรียนชี้แจงในแต่ละประเด็น ดังนี้

1. ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาของพี่น้องกะเหรี่ยงในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานโดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับที่ดินทำกินอย่างจริงจังและจริงใจ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมและสอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตตามจารีตประเพณีของชาวกะเหรี่ยง โดยใช้กลไกคณะอนุกรรมการที่มีอยู่แล้ว หรือกลไกอื่น ๆ ที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วกว่า แนวทางดังกล่าวนอกจากจะเป็นความต้องการของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบแล้ว ยังเป็นไปตามมติของคณะกรรมการมรดกโลกด้วย

  • ปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ตลอดจนกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี และระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ได้ดำเนินการสำรวจการถือครองที่ดินในเขตอนุรักษ์ตามพระราชบัญญัติทั้งสองดังกล่าวข้างต้นเสร็จแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดระเบียบปฏิบัติในการดำเนินการให้เป็นไปตาม มาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562

2. ยกฟ้องการดำเนินคดีกับชาวบ้านบางกลอยในข้อหาบุกรุกและทำลายป่า เพราะสิ่งที่ชาวบ้านกระทำไปนั้นเป็นการทำมาหากินเพื่อเลี้ยงชีพตามแนววิถีปฏิบัติ ตามประเพณีในพื้นที่บรรพบุรุษของตนเท่านั้น

  • จากการตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง พื้นที่บริเวณที่เรียกว่า ใจแผ่นดิน ซึ่งอยู่ใกล้บริเวณเขตแดนไทย-เมียนมา และเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A นั้น กรมการปกครองยืนยันว่าไม่เคยจดทะเบียนบ้านใจแผ่นดินในสารบบของกรมการปกครองแต่อย่างใด
  • ในปี พ.ศ. 2539 พื้นที่บริเวณใจแผ่นดิน เกิดปัญหาชายแดนที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ มีการสูญเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจนพบว่า มีกลุ่มคนเข้าไปตั้งเพิงพักในบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A ใกล้กับฐานปฏิบัติการใจแผ่นดิน บริเวณบางกลอยบนและห้วยสามแพร่ง โดยไม่มีสิทธิในที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมาย หน่วยงานความมั่นคงจึงได้เจรจาให้คนกลุ่มดังกล่าวลงมาอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ที่รัฐจัดให้บริเวณพื้นที่บ้านบางกลอย (ล่าง) ซึ่งอยู่ใกล้กับบ้านโป่งลึกซึ่งมีกลุ่มชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่มาก่อนแล้ว เพื่อให้ได้รับสวัสดิการพื้นฐาน เช่น โรงเรียน สถานีอนามัย และมีโครงการพัฒนาเพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิตโดยหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจัดตั้งเป็นหมู่บ้านตามสารบบของกรมการปกครอง เกิดประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของชาวบ้านอย่างมั่นคงและยั่งยืน
  • อย่างไรก็ตามในระหว่างการเคลื่อนย้ายชาวบ้านมาอยู่อาศัยที่บ้านโป่งลึก – บางกลอย (ล่าง) ในช่วงปี พ.ศ. 2541 – 2552 นั้น กลับมีกลุ่มคนบางส่วนย้อนกลับขึ้นไปยังบริเวณพื้นที่บางกลอย (บน) และบุกรุก โค่นล้มต้นไม้ใหญ่เพื่อปลูกข้าวไร่ พริก รวมทั้งพบการปลูกกัญชา ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินคดีกับผู้บุกรุกตามกฎหมาย และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง พืชผลอาสินในบริเวณพื้นที่ที่บุกรุกและฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกให้ฟื้นฟูกลับสู่สภาพธรรมชาติเดิม
  • กรณีการขอกลับขึ้นไปที่ใจแผ่นดินนั้น ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษากรณีผู้ฟ้องคดีขอกลับคืนพื้นที่ใจแผ่นดินว่า ผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธิที่จะอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทได้ เนื่องจากที่ดินพิพาทอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และผู้ฟ้องคดีไม่มีหนังสือสำคัญแสดงสิทธิในที่ดินหรือหลักฐานแสดงการได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น ศาลจึงไม่อาจกำหนด คำบังคับให้ผู้ฟ้องคดีกลับคืนสู่สภาพเดิมโดยให้กลับไปอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่เดิมได้ ประกอบกับนายโคอิ มีมิ หรือปู่คออี้ ที่ระบุในคำพิพากษาว่าเกิดที่ใจแผ่นดินนั้น มีพยานหลักฐานยืนยันว่า นายโคอิ มีมิ หรือปู่คออี้ เคยให้ถ้อยคำต่อสภาทนายความว่า ตนเกิดที่ต้นน้ำภาชี จังหวัดราชบุรี และได้อพยพข้ามมาอยู่บ้านบางกลอย (บน) เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2484 อันแสดงว่านายโคอิ มีมิ หรือปู่คออี้ ไม่ได้อยู่ในผืนป่าแก่งกระจานมาแต่เดิม แต่ย้ายถิ่นฐานมาจากที่อื่น
  • และเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ร่วมกับหน่วยเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษผู้พิทักษ์อุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า (พญาเสือ) ส่วนยุทธการด้านป้องกันและปราบปราม สำนักงานสนับสนุนการป้องกันปราบปรามที่ 1 (ภาคกลาง) หน่วยเฉพาะกิจทัพพระยาเสือ กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 144 กองร้อยฝึกรบพิเศษที่ 1 (ค่ายฝึกการรบพิเศษแก่งกระจาน) กองการบิน สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันออกลาดตระเวน ตรวจตราการกระทำความผิดกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ตามแผนการบินตรวจสภาพป่า ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และตรวจพบพื้นที่ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ถูกบุกรุก แผ้วถาง บริเวณบางกลอย (บน) จำนวน 18 แปลง เนื้อที่ 156–3–69 ไร่ ซึ่งไม่เป็นพื้นที่ที่อยู่ในบริเวณที่มีการสำรวจถือครองตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 แต่อย่างใด คณะเจ้าหน้าที่จึงได้ร่วมกันตรวจยึดพื้นที่บุกรุกดังกล่าว พร้อมจับกุมผู้ต้องหา รวม 22 ราย นำส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแก่งกระจานเพื่อสอบสวนดำเนินคดีต่อไป ขณะนี้ คดีดังกล่าว ศาลจังหวัดเพชรบุรี นัดฟังคำฟ้องในวันที่ 29 กรกฎาคม 2564

3. ยุติการคุกคามต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่ลงไปให้ความช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานในทุกรูปแบบ

  • กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ไม่เคยคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือกลุ่ม หรือบุคคล ที่ลงไปให้ความช่วยเหลือชาวบ้านแต่อย่างใด ในส่วนของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นั้น ได้ให้ความสำคัญในการดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และให้ความร่วมมือในการติดต่อประสาน อำนวยความสะดวกในการเข้าพื้นที่ เพื่อการบริจาคสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคให้แก่ชุมชนบ้านบางกลอยมาโดยตลอด ทั้งในด้านการอำนวยความสะดวก การสนับสนุนกำลังเจ้าหน้าที่ขนย้าย และการสนับสนุนยานพาหนะเพื่อขนส่งสิ่งของ
  • แต่ในห้วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในพื้นที่นั้น เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ มีความจำเป็นต้องมีความเข้มงวดในการเข้า-ออก พื้นที่ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและป้องกันไม่ให้มีการแพร่เชื้อ ทั้งนี้ เป็นการดำเนินมาตรการร่วมกับผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน และชาวบ้าน
  • ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ไม่เคยปิดกั้นความช่วยเหลือต่อพี่-น้องบ้านบางกลอยแต่อย่างใด ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 นายอิทธิพล ไทยกมล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจทัพพระยาเสือ และเจ้าหน้าที่กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 144 กองร้อยฝึกรบพิเศษที่ 1 (ค่ายฝึกการรบพิเศษแก่งกระจาน) ได้ร่วมกันรับมอบเสบียงอาหารแห้ง ประกอบด้วย ข้าวสาร ปลาแห้ง น้ำตาลปี๊บ นมกล่อง หัวหอมแห้ง กระเทียม ฟัก วุ้นเส้น เวชภัณฑ์ต่าง ๆ จาก ตัวแทนภาคประชาสังคมจ.เพชรบุรี ผู้แทนภาคีเครือข่าย SAVEบางกลอย เพื่อนำไปมอบให้กลับราษฎรบ้านโป่งลึกบางกลอย ทั้งนี้ ในการลำเลียงขนส่งเสบียงอาหารดังกล่าวต้องใช้ทั้งรถยนต์ส่งต่อไปยังเรือยางก่อนนำขึ้นรถยนต์ลำเลียงไปส่งมอบให้พี่น้องหมู่บ้านโป่งลึกบางกลอยต่อไป เนื่องจากถนนบางช่วงมีน้ำท่วมขัง ระดับสูงที่สุดประมาณ 1.50 เมตร

4. รับฟังความคิดเห็นและเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลก ซึ่งเป็นพื้นที่บรรพบุรุษและพื้นที่จิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงด้วย ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ

  • กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีนโยบายในการรับฟังความเห็นและเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลก โดยมีแนวทางในการดำเนินการ ดังนี้
    • 1) เพิ่มสัดส่วนผู้แทนชุมชนท้องถิ่นในคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติ และคณะกรรมการที่ปรึกษาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
    • 2) การแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษามรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจาน โดยให้มีผู้แทนจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ
    • 3) กำหนดแผนในการจัดทำโครงการศึกษาและการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่แหล่งมรดกโลกอย่างยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด