เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2566 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยสำนักอุทยานแห่งชาติ ได้เข้าร่วมพิธีรับมอบโล่สำหรับพื้นที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน “เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย” ภายใต้โครงการ “AMAZING DARK SKY IN THAILAND #Season 4” ณ ห้องประชุมจารุวัสตร์ ชั้น 10 อาคารการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กรุงเทพมหานคร
โครงการ AMAZING DARK SKY IN THAILAND #Season4 หรือ โครงการเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ซึ่งได้ดำเนินอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 4 โดยในปี 2568 มีการประกาศพื้นที่ใหม่ 16 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้ มีพื้นที่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ถึง 5 แห่ง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเภท “อุทยานท้องฟ้ามืด (Dark Sky Park)” ได้แก่
▪️ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน จังหวัดมุกดาหาร : พื้นที่คุ้มครองที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ เหมาะสำหรับการสังเกตการณ์ดาราศาสตร์
▪️ อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร จังหวัดศรีสะเกษ : การผสมผสานคุณค่าทางประวัติศาสตร์และธรรมชาติ
▪️ อุทยานแห่งชาติภูสวนทราย จังหวัดเลย : ภูเขาหินทรายที่มีทิวทัศน์งดงาม
▪️ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จังหวัดพิษณุโลก : ป่าดิบเขาที่อุดมไปด้วยธรรมชาติ
▪️ อุทยานแห่งชาติแม่ปิง จังหวัดลำพูน : แหล่งต้นน้ำสำคัญท่ามกลางป่าเขาอันเขียวขจี
ซึ่งที่ผ่านมาพื้นที่อนุรักษ์ในสังกัดได้รับการรับรองเป็นอุทยานท้องฟ้ามืดแล้ว จำนวน 16 แห่ง ดังนี้
1. อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง จ.เชียงใหม่ (2565)
2. อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จ.อุบลราธานี (2565)
3. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จ.ชัยภูมิ (2565)
4. อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม จ.ชัยภูมิ (2565)
5. อุทยานแห่งชาติภูแลนคา จ.ชัยภูมิ (2565)
6. อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จ.กำแพงเพชร (2566)
7. อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา (2566)
8. อุทยานแห่งชาติตาพระยา จ.สระแก้ว (2566)
9. อุทยานแห่งชาติศรีน่าน จ.น่าน (2566)
10. วนอุทยานน้ำตกผาหลวง จ.อุบลราชธานี (2566)
11. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ (2567)
12. อุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อ จังหวัดแม่ฮ่องสอน (2567)
13. อุทยานแห่งชาติตาดโตน จังหวัดชัยภูมิ (2567)
14. อุทยานแห่งชาติไทรทอง จังหวัดชัยภูมิ (2567)
15. อุทยานแห่งชาติภูผายล จังหวัดสกลนคร (2567)
16. อุทยานแห่งชาติภูเวียง จังหวัดขอนแก่น (2567)
สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของพื้นที่คุ้มครองในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวดาราศาสตร์ที่สำคัญ และยังเป็นการเปิดมิติใหม่ให้กับการท่องเที่ยวไทย ด้วยเสน่ห์ของท้องฟ้ายามค่ำคืนและความงดงามของดวงดาว
โครงการนี้มุ่งเน้นการสร้างประสบการณ์ “Dark Sky Tourism” ซึ่งเป็นกิจกรรมยอดนิยมในกลุ่มผู้สนใจดาราศาสตร์และนักท่องเที่ยวที่รักธรรมชาติ เพื่อยกระดับประสบการณ์การท่องเที่ยวไทยให้ “สุดประทับใจ” (Grand Moment) นอกจากนี้ ยังเป็นการรณรงค์ให้สังคมไทยตระหนักถึงผลกระทบจากมลภาวะทางแสง สนับสนุนการอนุรักษ์ความมืดของท้องฟ้า การประหยัดพลังงาน และลดผลกระทบต่อระบบนิเวศ
ตั้งแต่เริ่มโครงการ ได้มีการประกาศรายชื่อพื้นที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดของประเทศไทยไปแล้วทั้งสิ้น 48 พื้นที่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เมื่อรวมกับ 16 พื้นที่ใหม่ในปี 2568 ทำให้ปัจจุบันมีพื้นที่รวม 64 แห่ง ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศไทย
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ตั้งเป้าที่จะผลักดันให้เกิดเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อสร้างการรับรู้ในวงกว้างและทำให้ดาราศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
หน่วยงาน, โรงแรม, รีสอร์ท, ชุมชน, ศูนย์วิทยาศาสตร์ หรือพิพิธภัณฑ์ที่สนใจสามารถสมัครขอรับการขึ้นทะเบียนได้ที่: https://darksky.narit.or.th/