• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรมอุทยานฯ จับมือ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ฯ MOU พัฒนาองค์ความรู้ดาราศาสตร์ให้แก่เจ้าหน้าที่

วันที่ 10 ตุลาคม 2565 นางรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ ภู่เพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum of Understanding : MOU) พัฒนาองค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์ ระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) โดยมี ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารศูนย์ปฏิบัติการ (H.A. Slade) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมทางวิชาการเกี่ยวกับการสร้างองค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์แก่เจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และหน่วยงานในสังกัดให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อยกระดับอุทยานแห่งชาติไปสู่สากล อีกทั้งเป็นการรองรับแผนงานบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติโดยกระบวนการมีส่วนร่วม บนพื้นฐานเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เหมาะสม ตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน และร่วมกันจัดตั้งและพัฒนาเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทยเพื่อเสนอให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ท้องฟ้ามืด (Dark Sky) ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล พร้อมทั้งยังสนับสนุนสถานที่อบรมบุคลากรในการฝึกอบรมและการวิจัยแก่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ซึ่งได้มีการประสานความร่วมมือ ด้านการพัฒนาและส่งเสริมองค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์ เพื่อสนับสนุนเครือข่ายความร่วมมือทางดาราศาสตร์ระหว่างหน่วยงานของรัฐ และประชาชนมาโดยตลอด ทั้งในรูปแบบวิทยากร อุปกรณ์ และเอกสาร แก่เจ้าหน้าที่ มัคคุเทศก์ และประชาชนทั่วไป สร้างความเข้มแข็งต่อกรมอุทยานแห่งชาติฯ ในการบริหารกิจการอุทยานแห่งชาติมาอย่างต่อเนื่อง ให้เป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วน และเอื้อประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศ โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือมีกำหนดระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ทั้งสองฝ่ายลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้

ทั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้เข้ารับใบประกาศการขึ้นทะเบียนเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดเป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยมีพื้นที่อนุรักษ์ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานท้องฟ้ามืด จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง จังหวัดเชียงใหม่ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม จังหวัดชัยภูมิ อุทยานแห่งชาติภูแลนคา จังหวัดชัยภูมิ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ร่วมกับเขตชุมชนอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดส่วนบุคคล และเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง อีก 7 แห่ง รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 12 แห่ง ภายในงาน Amazing Dark Sky in Thailand การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมาอีกด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด