(6 มีนาคม 2568) – ณ โรงแรมเดอะ สลิล ริเวอร์ไซด์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในการส่งเสริมการปลูกสมุนไพรและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness) ในพื้นที่อนุรักษ์ เพื่อยกระดับระบบเศรษฐกิจสุขภาพของประเทศไทย นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ “การส่งเสริมและพัฒนาแหล่งปลูกสมุนไพรในพื้นที่เขตอนุรักษ์ เพื่อนำมาใช้ในระบบสุขภาพและเศรษฐกิจ และการพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ (Wellness)” โดยมีผู้บริหารจากทั้ง 4 หน่วยงานหลักร่วมลงนาม ได้แก่ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายสมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ และนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ข้อตกลงความร่วมมือนี้มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2568 ถึง 5 มีนาคม 2571 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมการศึกษา วิจัย พัฒนาผลิตภัณฑ์ และอนุรักษ์สมุนไพรสายพันธุ์ดั้งเดิมในพื้นที่ป่าตามกฎหมาย รวมถึงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่อนุรักษ์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน โดยใช้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทยที่ผลิตอย่างมีมาตรฐาน สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ภายใต้ข้อตกลงนี้ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จะส่งเสริมและดำเนินการร่วมกับ 3 กรม ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะมีบทบาทต่อการสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ดูแลสุขภาพแบบองค์รวม (Wellness) เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ รวมถึงการสนับสนุนการศึกษา วิจัย และการอนุรักษ์พืชสมุนไพร นอกจากนี้ กรมป่าไม้ยังมีบทบาทในการสนับสนุนพื้นที่ป่าเสริมโทรมเพื่อการปลูกสมุนไพรและส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชสมุนไพรให้ได้มาตรฐาน ขณะเดียวกันเพื่อการฟื้นฟูป่า หรือปลูกในระบบวนเกษตร
นอกจากพิธีลงนามแล้ว ภายในงานยังมีการจัดแสดงผลงานวิจัยและการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากพืชป่าที่น่าสนใจ โดยกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้นำเสนอผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากกล้วยไม้ป่าอรุณี จำนวน 4 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ บาล์มแท่ง สเปรย์นาโน ลิปสติก และเครื่องดื่มคอมบูชา ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของดร.เครือวัลย์ พิพัฒน์สวัสดิกุล หัวหน้าสวนรุกขชาติไม้เมืองหนาว จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับสำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ อีกทั้งยังมีการจัดนิทรรศการที่น่าสนใจ แสดงถึงการนวดไทยอัตลักษณ์ 4 ภาค สมุนไพรท้องถิ่นจากจังหวัดต่าง ๆ และผลิตภัณฑ์สมุนไพรหลากหลายชนิดทั้งจากภาคเอกชนและภาครัฐ ซึ่งสะท้อนถึงความพยายามในการผสานภูมิปัญญาดั้งเดิมกับนวัตกรรมสมัยใหม่ ความร่วมมือครั้งนี้ คาดว่าจะช่วยส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของพืชสมุนไพรในประเทศไทยอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพให้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ซึ่งจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรชีวภาพของประเทศไทย ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน