• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

รมว.ทส. มอบรองปลัดกระทรวงทส. เปิดงานวันเสือโคร่งโลก 2567 ผนึกกำลัง 11 ภาคีเครือข่ายอนุรักษ์ฯ เร่งเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่ง

วันที่ 25 กรกฎาคม 2567 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย
ด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า และผู้สนับสนุนการจัดงาน จำนวน 11 องค์กร ได้แก่ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า WCS ประเทศไทย องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF-Thailand) สมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (ZSL) ประเทศไทย องค์การแพนเทอรา (Panthera) ประเทศไทยมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร มูลนิธิฟรีแลนด์ (Freeland) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์คและสเปลล์ กำหนดจัดงานวันเสือโคร่งโลก ประจำปี 2567 (Global Tiger Day 2024) ภายใต้แนวคิดหลัก “Go Goal Tigers : ก้าวต่อไป…Tigers” ความก้าวหน้าของการอนุรักษ์เสือโคร่ง ด้วยการศึกษาวิจัย และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งการจัดการถิ่นอาศัยและประชากรเหยื่อของเสือโคร่ง ตลอดจนการกระจายตัวของเสือโคร่งไปยังผืนป่าเป้าหมาย ในระหว่างวันที่ 25 – 27 กรกฎาคม 2567 ณ ลาน Zpotlight ชั้น G ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ครังสิต จังหวัดปทุมธานี
โดย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบหมายให้นายกุศล โชติรัตน์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดงาน และนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (ออส.) กล่าวรายงาน ภายในงานมีกิจกรรมต่าง ๆ ประกอบด้วย การจัดนิทรรศการด้านการอนุรักษ์เสือโคร่งของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช และหน่วยงานภาคีเครือข่าย กิจกรรมเสวนาและแสดงวิสัยทัศน์ในหัวข้อ“ส่องทาง…มองมุมเสือโคร่งคืนถิ่น” กิจกรรมด้านการส่งเสริมการอนุรักษ์เสือโคร่ง กิจกรรมตอบคำถามชิงรางวัลและการแสดงดนตรีเพื่อการอนุรักษ์
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า การจัดงานวันเสือโคร่งโลก ประจำปี 2567
จัดภายใต้แนวคิดหลัก“Go Goal Tigers : ก้าวต่อไป…Tigers” ความก้าวหน้าของการอนุรักษ์เสือโคร่ง ด้วยการศึกษาวิจัย และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง การจัดการถิ่นอาศัยและประชากรเหยื่อของเสือโคร่ง ตลอดจนการกระจายตัวของเสือโคร่ง ไปยังผืนป่าเป้าหมายจะแสดงถึงความสำเร็จการอนุรักษ์เสือโคร่งในประเทศไทยที่ผ่านมา ตามแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2553-2565) ด้วยการศึกษาวิจัย การฟื้นฟู การจัดการถิ่นอาศัยของเสือโคร่งและประชากรเหยื่อของเสือโคร่ง ตลอดจนเป้าหมายการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2565-2577) และจากการประชุมการเงินที่ยั่งยืนเพื่อการอนุรักษ์ภูมิทัศน์เสือโคร่ง (Sustainable Finance for Tiger Landscapes Conference: SFTLC) เมื่อวันที่ 22 – 23 เมษายน 2567 ณ เมืองพาโร ราชอาณาจักรภูฏานที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการประชุมเพื่อระดมทุนและความร่วมมือด้านการอนุรักษ์เสือโคร่งกับกลุ่มประเทศถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่ง ประเทศไทยได้รับการยกย่องให้เป็น “Champion ด้านการอนุรักษ์เสือโคร่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการเพิ่มประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติ และเพิ่มศักยภาพถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือได้เป็นอย่างดี และยังสามารถนำมาเป็นโมเดลตัวอย่างสำหรับการดำเนินงานของประเทศถิ่นอาศัยเสือโคร่งประเทศอื่น ๆ ได้อีกด้วย ทั้งนี้ ในช่วงปี 2566 – 2567 จากการประเมินข้อมูลภาพถ่ายจากกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ และเทคนิค การประเมินประชากรแบบ Spatially Explicit Capture Recapture (SECR) โดยกลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เข้ามาศึกษาวิจัยและสนับสนุนการปฏิบัติงานในพื้นที่อนุรักษ์ต่าง ๆ ได้ดำเนินการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพจำนวนกว่า 1,200 จุด และมีรายงานการสำรวจพบถ่ายภาพเสือโคร่งได้ในพื้นที่อนุรักษ์ 19 แห่ง 5 กลุ่มป่า ประกอบด้วย กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่มป่าแก่งกระจาน-กุยบุรี กลุ่มป่าฮาลาบาลา-บางลาง และกลุ่มป่าชุมพร และเมื่อนำข้อมูลการถ่ายภาพประกอบกับการประเมินความหนาแน่นประชากรของเสือโคร่งด้วยเทคนิคทางสถิติ (SECR) พบว่า ปี 2567 ประเทศไทยมีประชากรเสือโคร่งตัวเต็มวัยอยู่ประมาณ 179 – 223 ตัว ซึ่งการเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งจะเห็นได้ชัดในกลุ่มป่าตะวันตก ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ มีการเดินทางออกไปกระจายพันธุ์ในพื้นที่อนุรักษ์อื่นโดยรอบ และประเทศไทยได้บรรลุเป้าหมายในการเพิ่มจำนวนเสือโคร่งจาก 41 ตัว ในปี พ.ศ. 2557 เป็น 100 ตัว ในปี พ.ศ. 2565 ในพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของระบบการบริหารจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในรูปแบบภูมิทัศน์เชิงนิเวศ และการทำงานเพื่อเอาชนะความท้าทายในการเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบการจัดการตามหลักวิทยาศาสตร์ การติดตามการบังคับใช้กฎหมายการปรับปรุงพัฒนาระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ วางโครงสร้างการบริหารจัดการตามระบบนิเวศ การเพิ่มศักยภาพพัฒนาทักษะด้านการจัดการพื้นที่คุ้มครองของหัวหน้าหน่วยงาน และการลาดตระเวนเชิงคุณภาพของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ปฏิบัติงานครอบคลุมพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการร่วมบริหารจัดการพื้นที่
นายอรรถพลฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์เสือโคร่งในปี 2567 อยู่ในช่วงของแผนยุทธศาสตร์ภายใต้แผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2565-2577) โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติเพิ่มขึ้น ภายใต้ความสามารถในการรองรับได้ของพื้นที่กลุ่มป่าที่เป็นถิ่นอาศัยด้วยการยกระดับการจัดการพื้นที่และการติดตามตรวจวัดที่มีประสิทธิภาพ ฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและเหยื่อในพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันตก, กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่, กลุ่มป่าแก่งกระจาน, กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาวและกลุ่มป่าคลองแสง-เขาสก ภายใต้การบูรณาการการทำงานอย่างมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อนำประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำในการอนุรักษ์เสือโคร่งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในปี พ.ศ. 2577
ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด