วันที่ 19 มีนาคม 2567 ท่านอ้น วัชเรศร วิวัชรวงศ์ เดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เพื่อเยี่ยมชมเส้นทางศึกษาธรรมชาติ และสัมผัสความงดงามของธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ พร้อมทั้งเดินศึกษาธรรมชาติ ณ เส้นทางศึกษาธรรมชาติยอดดอยและเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา เพื่อศึกษาป่าพรุดึกดำบรรพ์ที่สูงที่สุดในประเทศไทย ตลอดจนสัตว์ป่าและพืชพันธุ์เฉพาะถิ่นของดอยอินทนนท์ โดยมีนายเกรียงไกร ไชยพิเศษ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ กรรมการ “ศูนย์การเรียนรู้โครงการพื้นที่ต้นแบบดอยอินทนนท์ (อินทนนท์โมเดล) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ ณ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
ในโอกาสนี้ ท่านอ้นได้เดินบนสะพานไม้ และใช้เวลาถ่ายภาพกับดอกกุหลาบพันปี และศึกษาธรรมชาติในพื้นที่ ซึ่งอ่างกาเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ตั้งอยู่ตรงข้ามศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เป็นจุดที่สามารถสัมผัสกับธรรมชาติอันชวนหลงใหลของป่าดงดิบเขาได้ง่ายที่สุด ภายในจัดทำเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ระยะทางประมาณ 360 เมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 30 นาที โดยใช้สะพานไม้ทั้งหมด เพื่อป้องกันมิให้เหยียบย่ำธรรมชาติอันเปราะบางเสียหาย เส้นทางจะวนกลับมา ณ จุดเริ่มต้น มีป้ายให้ความรู้เรื่องธรรมชาติตลอดเส้นทาง บรรยากาศในอ่างกาหลวงปกคลุมด้วยเมฆที่ลอยพัดผ่านเข้ามาตลอดเวลา อากาศจึงชื้นเต็มไปด้วยละอองน้ำ ทำให้ต้นไม้ใหญ่ในป่าดงดิบเขามีมอสและเฟิร์นขึ้นปกคลุมเต็มต้น จนแลดูราวกับป่าในยุคดึกดำบรรพ์ โดยช่วงหนึ่งท่านอ้นได้สอบถามถึง “นกกินปลีหางยาวคอเขียว ว่ามีอยู่ที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์แห่งเดียว หรือไม่ รวมถึงต้นกุหลาบพันปี” ที่ท่านให้ความสนใจเป็นพิเศษ โดยขอบใจเจ้าหน้าที่ที่ช่วยดูแลทรัพยากรธรรมชาติแห่งนี้ไว้
สำหรับจุดเด่นของเส้นทางนี้ ได้แก่ ต้นกุหลาบพันปีขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงเดือนมกราคม- กุมภาพันธ์ กุหลาบพันปีจะบานอวดดอกสีแดงสด ดึงดูดให้นกนานาชนิดมาดื่มกินน้ำหวาน และช่วยผสมเกสร เช่น นกกินปลีหางยาวคอเขียว และนกกินปลีหางยาวคอสีฟ้า ส่วนตามต้นกุหลาบพันปีมีข้าวตอกฤาษี เป็นมอสชนิดหนึ่งขึ้นอยู่หนาแน่น มีสีเขียวสลับส้มกับน้ำตาลอ่อนๆ นอกจากนี้ ในอ่างกาหลวงยังมีพรุน้ำจืดที่อยู่สูงที่สุดของประเทศ ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์เฉพาะถิ่นหายากบางชนิด และเป็นถิ่นอาศัยของนกบนที่สูงจำนวนมากซึ่งสามารถพบเห็นได้ค่อนข้างง่าย เช่น นกศิวะหางสีตาล นกอีแพรดท้องเหลือง นกกะรางหัวแดง และนกจับแมลงหน้าผากขาว ในช่วงฤดูหนาวยังมีนกอพยพย้ายถิ่นนานาชนิดบินมาอาศัย