วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากนายรุ่งโรจน์ อัศวกุลธารินท์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) แจ้งว่า กรณีพบเสือโคร่งออกมาพื้นที่บริเวณป่าท้ายหมู่บ้านกระเหรี่ยงน้ำตก อุทยานแห่งชาติคลองลาน สร้างความแตกตื่นแก่ประชาชนในพื้นที่ นั้น เมื่อวันที่ 19 ก.พ.67 ที่ผ่านมา ได้รับรายงานจากนายสุระชัย โภคะมณี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติคลองลาน ว่าได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ร่วมกับนางสาว พิมพ์ชนก สรงมงคล นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ นางสาวอังสนา มองทรัพย์ หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และนางอัจฉรา ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ รวมจำนวน 60 นาย แบ่งกำลังคอยเฝ้าระวังทั้งในหมู่บ้านและควบคุมพื้นที่ปิดล้อมป่ามะขามและป่าไผ่ เนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ เพื่อเข้าควบคุมพื้นที่ และวางแผนดำเนินการร่วมกันตามหลักวิชาการ ในภารกิจช่วยเหลือเสือโคร่งที่ออกนอกพื้นที่ดังกล่าว กระทั่งเวลาประมาณ 21.50 น. กล้องดักถ่าย (camera trap) จากองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF ประเทศไทย) จับภาพเสือโคร่งเดินย้อนเส้นทางจากหลังวัดน้ำตก สำนักวิปัสนากรรมฐานน้ำตกคลองลาน เข้ามากินเหยื่อที่ทำการล่อไว้ แล้วติดกับดักที่ขา ทีมยิงยาสลบที่ซ่อนตัวอยู่บนต้นไม้ได้ยิงยาสลบเข้าไป 1 เข็ม จากนั้นนายสัตวแพทย์ประจำสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จึงเข้าทำการวางยาสลบ และประสานเจ้าหน้าที่อุทยานฯ นำร่างเสือโคร่งออกมาจากป่า เนื่องจากเกรงว่ายาจะหมดฤทธิ์ โดยนำเสือโคร่งมายังสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ต.ระบำ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี
ตรวจสอบสุขภาพเสือโคร่งเบื้องต้นเป็นเสือโคร่งเพศเมีย อายุประมาณ 2-3 ปี ชื่อ “บะลาโกล” ภาษากระเหรี่ยง แปลว่า คลองลาน ประมาณ 80-90 กิโลกรัม ตาข้างซ้ายบอด มีบาดแผลที่กระจกตา มีบาดแผลขนาดเล็กที่อุ้งเท้าด้านซ้าย เหงือกค่อนข้างซีด (pale pink mucous membrane) สภาพผอม (body condition score 2-2.5) สัตวแพทย์ได้ให้ยาปฏิชีวนะ วิตามิน และยาถ่ายพยาธิ ก่อนนำขึ้นรถไปยังสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกาย
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นายสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) จะฟื้นฟูบำรุงร่างกายเสือโคร่ง “บะลาโกล” ซึ่งคาดว่าประมาณ 2-3 เดือน ก่อนติดปลอกคอวิทยุติดตามตัวเพื่อตรวจสอบการเคลื่อนที่ของเสือโคร่ง ก่อนเคลื่อนย้ายเสือโคร่งไปปล่อยสู่ป่าธรรมชาติต่อไป