วันที่ 18 ตุลาคม 2566 ที่ห้องประชุมสัมมนา ชั้น บี 1 สภาผู้แทนราษฎร นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เข้าร่วมการประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาการครอบครองและสถานภาพทางกฎหมายของนกปรอดหัวโขน โดยมีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม เพื่อร่วมรับฟังความคิดเห็นการให้ความรู้ ความเข้าใจถึงการเลี้ยงนกปรอดหัวโขน การเพาะพันธุ์ ขยายพันธุ์ การอนุรักษ์ รวมไปถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ที่ส่งผลกระทบกับผู้เลี้ยง และนกปรอดหัวโขนที่อาศัยในธรรมชาติ ถือเป็นสื่อที่สำคัญ ที่ผู้เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการ ผู้เพาะเลี้ยง ผู้ประกอบการที่ประกอบอาชีพเกี่ยวข้องกับนก รวมไปถึงนักอนุรักษ์ ได้รับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และหาข้อสรุปที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
นกปรอดหัวโขน (นกกรงหัวจุก) เป็นที่นิยมเลี้ยงในภาคใต้เนื่องจากมีเสียงร้องไพเราะและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ อีกทั้งกลุ่มผู้เลี้ยงสามารถเพาะพันธุ์นกได้จำนวนมาก จึงผลักดันให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจและปลด “นกปรอดหัวโขน” จากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง เพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ของภาคใต้ โดยนกปรอดหัวโขน มีการกระจายตัวอยู่ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยข้อมูลในปี 2566 พบว่ามีการกระจายตัวของนกปรอดหัวโขนในธรรมชาติ พบได้ทั่วไปในป่าโปร่งที่อยู่ใกล้ชุมชน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคใต้ฝั่งอันดามัน ปัจจุบันนกปรอดหัวโขนจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ป่าคุ้มครองจำพวกนก ลำดับที่ 550 ตามกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546 ห้ามล่า หรือจับมาจากธรรมชาติ
ปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีกระบวนการส่งเสริมการอนุรักษ์นกปรอดหัวโขนให้กับผู้ที่สนใจเลี้ยง สนับสนุนพ่อแม่พันธุ์ให้ภาคเอกชนสามารถครอบครอง เพาะพันธุ์ และค้าได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงปรับลดขั้นตอนในการอนุญาตครอบครองหรือเพาะพันธุ์ แต่ยังมีผู้เพาะเลี้ยงที่ไม่ได้รับอนุญาตจำนวนมาก เนื่องจากมีขั้นตอนการขออนุญาตหลายขั้นตอน ต้องใช้หลักฐานหลายอย่าง และต้องลงทุนสูง จากข้อมูลการรายงานสรุปผู้ได้รับอนุญาตให้เพาะพันธุ์ ค้า ครองครอง นกปรอดหัวโขน ในช่วงปี พ.ศ. 2555 – ปัจจุบัน มีนกปรอดหัวโขนที่ขึ้นทะเบียนถูกกฎหมาย จำนวน 134,325 ตัว จากผู้ขอขึ้นทะเบียน จำนวน 11,527 ราย ที่ผ่านมาพบผู้กระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับนักปลอดหัวโขน ตั้งแต่ปี 2562-2566 รวม 183 คดี สามารถตรวจยึดนกผิดกฎหมายได้ทั้งสิ้น 6,406 ตัว