• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรมอุทยานฯ ขยายผลรวบเครือข่ายค้าไม้ข้ามชาติ ฝัง GPS จากป่าอุตรดิตถ์ โผล่โกดังเชียงใหม่

วันที่ 6 เมษายน 2566 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า เมื่อ 14.00 น.นายกริชสยาม คงสตรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ร่วมกับ หน่วยเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษผู้พิทักษ์อุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า เจ้าหน้าที่สำนักงานสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามที่ 3 ภาคเหนือ (สปป.3) เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการตำรวจป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปทส.ภาค 5) เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปทส. เจ้าหน้าที่ตำรวจ ตชด. เจ้าหน้าที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 1 (เชียงใหม่) เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ดอยสะเก็ด ฝ่ายปกครอง อำเภอดอยสะเก็ด กำนันตำบลป่าป้อง และผู้ใหญ่บ้านทุ่งยาว หมู่ 8 นำหมายศาลเข้าตรวจค้นโรงงานไม้แปรรูปส่งออกในต.ป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ดจ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นการขยายผลกลุ่มขบวนการลักลอบตัดไม้มีค่าจากพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยผึ้ง-วังยาว อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ จนถึง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

จากการตรวจสอบ พบเป็นโรงเลื่อยแปรรูปไม้ขนาดใหญ่ ภายในรั้วของโรงเลื่อย ตรวจพบไม้ประดู่ท่อนเป็นจำนวนมาก กองกระจายอยู่โดยรอบ ตรวจสอบไม้ประดู่ท่อน ไม่พบรูปรอยดวงตราประทับไม้ของพนักงานเจ้าหน้าที่ คณะเจ้าหน้าที่จึงได้ร่วมกันตรวจยึดไม้ประดู่ท่อนของกลาง พร้อมรวบรวมเอกสารพยานหลักฐาน แจ้งความดำเนินคดีกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่มาของเหตุการณ์การเข้าตรวจค้น ดำเนินคดี กับ บริษัท นภัสนันท์การค้าไม้ จำกัด

นายอรรถพล กล่าวว่า สำหรับปฏิบัติการครั้งนี้ สืบเนื่องจากชุดพญาเสือได้รับการประสานงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง พบขบวนการลักลอบทำไม้ประดู่ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการจากการขนส่งไม้ประดู่แผ่นแปรรูป มาเป็นการส่งออกเป็นไม้ท่อนใส่ในรถตู้คอนเทนเนอร์และนำส่งออกทางรถยนต์ผ่านด่านชายแดน โดยเฉพาะที่ด่านเชียงของ จ.เชียงราย และมีการปลอมแปลงหลักฐานเป็นสินค้าอื่น และเมื่อประมาณ เดือนพฤศจิกายน 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งด่านตรวจพบรถ 18 ล้อ ขนตู้คอนเทนเนอร์ที่มีไม้ประดู่ท่อนเต็มคันรถ ซึ่งต่อมานางสาวพิมพ์ประไพ (สงวนนามสกุล) ได้นำหลักฐานมาแสดงว่าตนเป็นเจ้าของและไม้ที่ได้มาได้มาโดยถูกต้อง เพื่อขอปล่อยไม้ออกไป

หลังจากนั้น ต่อมา หัวหน้าสำนักงานสนับสนุนการปราบปรามที่ 3 ภาคเหนือ ร่วมกับหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยผึ้ง-วังยาว อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ ได้ลาดตระเวนพบการลักลอบทำไม้ประดู่ในพื้นที่ จำนวน 2 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2566 พบการทำไม้ประดู่ 6 ท่อน และเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 พบการทำไม้ประดู่ 8 ท่อน มีลักษณะการทำไม้เป็นท่อนเหมือนฝ่ายความมั่นคงเคยแจ้งไว้ จึงได้ประสานชุดพญาเสือนำจีพีเอสไปติดตั้งไว้ในไม้ 1 ท่อน เมื่อวันที่ 16 มีนาคม แล้วเฝ้าติดตามอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566 สัญญาณจีพีเอส ไปปรากฏที่ไร่ข้างโกดังแห่งหนึ่งที่ อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ เจ้าหน้าที่ได้ส่งสายสืบเข้าตรวจสอบสถานที่แต่พบว่ามีการคุ้มกัน วางคนดูต้นทางไว้อย่างหนาแน่น สืบทราบว่าเป็นพื้นที่ของเจ้าหน้าที่หน่วยงานหนึ่งที่ถูกไล่ออกจากปัญหายาเสพติด จึงใช้วิธีเฝ้าติดตามสัญญาณจีพีเอสแทน


วันที่ 5 เมษายน 2566 เวลา 09.32 น. สัญญาณจีพีเอสไปปรากฏที่แปลงเกษตร โฉนดเลขที่ เลขที่ดิน 491 อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ และสัญญาณจีพีเอสเคลื่อนย้ายอีกเมื่อเวลา 16.50 น. เจ้าหน้าที่คาดว่าจุดดังกล่าวเป็นจุดถ่ายของ จากรถอีกคันหนึ่งไปยังรถ 6 ล้อ หมายเลขทะเบียน 70-1477 แพร่ สืบทราบภายหลังว่า น.ส.ศิรินทิพย์ (สงวนนามสกุล) เป็นเจ้าของ และนายเกษม เป็นคนขับ วันที่ 5 – 6 เมษายน 2566 ช่วงเวลา 21.00 – 03.05 น. สัญญาณจีพีเอสมีการหยุดอยู่ที่ปั๊มน้ำมันพีที ท้องที่ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ซึ่งภายในปั๊มน้ำมันดังมีรถบรรทุกต้องสงสัยจำนวน 3 คัน จอดพักรถอยู่ภายในปั๊ม และเวลา 09.07 น. สัญญาณจีพีเอสไปปรากฏที่ ท้องที่ ต.ป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เป็นที่ตั้งของ บริษัท นภัสนันท์การค้าไม้ จำกัด มีนางศิริวรรณ (สงวนนามสกุล) นายนฤพัฒน์ (สงวนนามสกุล) และนางสาวพิมพ์ประไพ (สงวนนามสกุล) เป็นกรรมการผู้จัดการ เจ้าหน้าที่จึงได้ขอหมายศาล เข้าค้นโกดังดังกล่าว

สำหรับปฏิบัติการครั้งนี้ จากการสืบหาข่าวกลุ่มขบวนการลักลอบตัดไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ท้องที่ภาคเหนือ และกรมอุทยานฯ ต้องการให้ติดตามจับกุมและขยายผลไปถึงกลุ่มนายทุนที่อยู่เบื้องหลังขบวนการทำไม้มีค่า และใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการปราบปรามเชิงรุกต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด