• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรมอุทยานแห่งชาติฯ ร่วมหารือการลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายระหว่าง ไทย – สหรัฐอเมริกา

วันที่ 12 ธันวาคม 2565  นางใกล้รุ่ง พูลผล ผู้อำนวยการส่วนบริหารอนุสัญญา กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา ในฐานะผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.)  ได้ร่วมคณะผู้แทนไทย นำโดย นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รอง ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยผู้แทนจากกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  และกรมควบคุมมลพิษ เข้าร่วมหารืออย่างไม่เป็นทางการกับ Ms. Jennifer R. Littlejohn รองผู้ช่วยเลขาธิการด้านมหาสมุทรและสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ และวิทยาศาสตร์ต่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา พร้อมคณะ ในประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย การจัดการมลพิษทางอากาศ การจัดการน้ำ และการจัดการขยะพลาสติก รวมถึงประเด็นอื่น ๆ ที่ทั้งสองฝ่ายสนใจ ณ House of Smooth Curry โรงแรมพลาซ่าแอทธินี่ กรุงเทพมหานคร

โดยฝ่ายสหรัฐอเมริกา ได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษในประเด็นการต่อต้านการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่า และการมีส่วนร่วมของเยาวชน (Youth engagement) ต่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าและพืชป่า ซึ่งผู้แทน อส. ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นการมีส่วนร่วมของเยาวชนดังกล่าวว่า ประเทศไทย ได้สร้างเวทีเพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงแนวคิดและบทบาทในการอนุรักษ์สัตว์ป่าและพืชป่า โดยผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่หน่วยงานภาครัฐจัดขึ้น ตัวอย่างเช่น การประกวดผลงานศิลปะ ภาพถ่าย วีดิทัศน์สั้น เรียงความ เนื่องในวันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก (World Wildlife Day) ซึ่ง อส. และองค์กรพันธมิตร ได้ร่วมกันจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในช่วงวันที่ 3 มีนาคม และโครงการ USAID Wildlife Asia ก็ได้มีส่วนสนับสนุนการจัดงานดังกล่าวในหลาย ๆ ปี ที่ผ่านมาด้วย สำหรับปี พ.ศ. 2566 ซึ่งตรงกับวาระครบรอบ 50 ปี ของการรับรองอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) สำนักเลขาธิการไซเตส (CITES Secretariat) ต้องการมุ่งเน้นถึงความสำคัญของพันธมิตรที่ช่วยทำให้การอนุวัติอนุสัญญาเป็นไปด้วยดี ตลอด 50 ปี ที่ผ่านมา จึงได้กำหนดแนวคิดหลัก (Theme) ของการจัดงานวันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก ประจำปี พ.ศ. 2566 ว่า “Partnership for Wildlife Conservation” ส่วนหัวข้อการประกวดต่าง ๆ จะพิจารณาจากประเด็นที่ประชาคมโลกกำลังให้ความสนใจ เช่น ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศต่อสัตว์ป่าและพืชป่า เป็นต้น

ทั้งนี้ ฝ่ายสหรัฐอเมริกา ได้แสดงความสนใจและยินดีที่จะมีความร่วมมือ พร้อมทั้งให้การสนับสนุนการดำเนินงานของประเทศไทยให้มีความต่อเนื่อง ทั้งในด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถ (capacity building) และการรณรงค์เพื่อลดความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย รวมถึงการสร้างการมีส่วนร่วมของกลุ่มเยาวชนในการอนุรักษ์สัตว์ป่าดังกล่าวต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด