• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรม​อุทยาน​แห่งชาติฯ​ ออกแนวทางเฝ้าระวัง​ป้องกันโรคฝีดาษวานร (Monkey Pox) ในสัตว์ป่า​

วันที่ 19 สิงหาคม​ 2565 นางรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผย​ว่า​ กรม​อุทยาน​แห่งชาติ​ สัตว์ป่า​ และ​พันธุ์พืช​ ได้ให้ความสำคัญ​ใน​การ​เฝ้าระวัง​และป้องกัน​การแพร่ระบาด​ของโรคฝีดาษวานร (Monkey Pox) เนื่องจาก​พบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนูป่า เป็นต้น โดยโรคดังกล่าวสามารถติดต่อจากคนมาสู่สัตว์ได้ จึงให้หน่วยงานในสังกัดเฝ้าระวังโรคฝีดาษวานร (Monkey Pox) โดยปฏิบัติตามแนวทางการดำเนินการเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันโรคฝีดาษวานร (Monkey Pox)​ ในสัตว์ป่า กำชับให้เจ้าหน้าที่ดูแลสุขภาพอนามัยอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะผู้ทำงานใกล้ชิดกับสัตว์ป่า ประชาสัมพันธ์นักท่องเที่ยวให้ตระหนักถึงการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคจากคนสูสัตว์ป่า รวมทั้ง ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันประชาสัมพันธ์ข้อมูลการเฝ้าระวังโรค

นางรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

โดยแนวทางการดำเนินการเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันโรคฝีดาษวานร (Monkey Pox) ในสัตว์ป่า สำหรับเจ้าหน้าที่ 1. หากมีอาการที่เข้าข่ายหรือคล้ายกับอาการของโรคฝีดาษวานร (Monkey Pox) ให้งดการให้อาหารสัตว์ป่า การเลี้ยงดูแลสัตว์ป่า และการสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ป่า จนกว่าจะได้รับการตรวจวินิจฉัยยืนยันจากแพทย์ว่าไม่ได้เป็นโรคฝีดาษวานร 2. รักษาสุขอนามัยส่วนตัว ใส่อุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย ถุงมือยาง เป็นต้น ล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล ก่อนและหลังสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ป่าทุกครั้ง 3. หมั่นสังเกตอาการป่วย/ความผิดปกติของร่างกายตนเอง โดยเฉพาะอาการผื่นต่างๆที่ขึ้นตามร่างกาย

4. หมั่นสังเกตอาการป่วย/ความผิดปกติของสัตว์ป่าที่ดูแลเป็นประจำ หากพบอาการป่วยให้รีบแจ้งสัตวแพทย์และผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการรักษาต่อไป 5. รักษาความสะอาดบริเวณโดยรอบสถานที่เลี้ยงสัตว์ป่า หรือบริเวณที่สัตว์ป่าธรรมชาติอาจมีโอกาสเข้ามาใช้ประโยชน์ ไม่ให้มีขยะที่อาจแพร่เชื้อโรค เช่น ก้นบุหรี่ หน้ากากอนามัย กระดาษชำระที่เช็ดน้ำมูก/สิ่งคัดหลั่งอื่น ๆ เป็นต้น 6. เนื่องจากโรคฝึดาษวานรมีสัตว์ฟันแทะเป็นพาหะของโรคได้ จึงควรรักษาความสะอาดบริเวณพื้นที่เลี้ยงสัตว์ และควบคุมสัตว์พาหะต่างๆ เช่น หนู แมลงสาบ เป็นต้น และ 7. หากมีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร หรือผู้ป่วยสงสัยโรคฝีดาษวานร หรือสัตว์ป่วยสงสัยโรคฝีดาษวานร ให้งดทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ป่าทุกกรณี เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 30 วัน (ระยะฟักตัวของเชื้ออยู่ที่ 5 – 21 วัน) เพื่อลดโอกาสในการแพร่กระจายโรคไปสู่สัตว์ป่า

สำหรับนักท่องเที่ยว 1. ไม่ควรให้อาหารสัตว์ป่า กรณีมีกิจกรรมให้อาหารสัตว์ป่าในส่วนแสดง ต้องล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล ก่อนและหลังให้อาหารสัตว์ป่า 2. ไม่ควรนำอาหารที่เหลือกินจากตนเอง และผู้อื่น มาให้เป็นอาหารสัตว์ป่า เพื่อลดการปนเปื้อนของเชื้อโรคผ่านสิ่งคัดหลั่ง 3. ไม่ควรทิ้งขยะที่อาจแพร่เชื้อโรค เช่น ก้นบุหรี่ หน้ากากอนามัย กระดาษชำระที่เช็ดน้ำมูก/สิ่งคัดหลั่งอื่น ๆ เป็นต้น ในบริเวณที่เลี้ยงสัตว์ปา หรือบริเวณที่สัตว์ป่าธรรมชาติอาจมีโอกาสสัมผัสได้ (ทิ้งขยะในจุดที่ทางสถานที่กำหนดไว้ให้) และ 4. ไม่ควรบ้วนน้ำลาย หรือสิ่งคัดหลั่งอื่นๆ ในบริเวณที่เลี้ยงสัตว์ป่า หรือบริเวณที่สัตว์ป่าธรรมชาติอาจมีโอกาสสัมผัสได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด