• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรมอุทยานแห่งชาติฯ กำหนดแนวทางปฏิบัติ เฝ้าระวังควบคุมการแพร่ระบาด ‘โรคฝีดาษลิง’

วันที่ 25 พฤษภาคม 2565 นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิง ที่แพร่ระบาดในกลุ่มประเทศยุโรปในขณะนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีความตระหนักและติดตามสถานการณ์ โรคผีดาษลิง (Monkeypox) อย่างใกล้ชิด โดยได้สั่งการให้นายประเสริฐ สอนสถาพรกุล ผู้อำนวยการกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า หัวหน้าด่านตรวจสัตว์ป่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ผู้แทนด่านควบคุมโรค กรมควบคุมโรค ผู้แทนฝ่ายการแพทย์ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และผู้แทนด่านกักกันสัตว์ป่า ประชุมหารือเพื่อหาแนวทางการปฏิบัติงานในการควบคุมและเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิง

โดยมีแนวทางการปฏิบัติงานคือ ได้ดำเนินการแจ้งด่านตรวจสัตว์ป่าทั่วประเทศ เพิ่มความเข้มงวดการตรวจตราการนำเข้า และนำผ่านสัตว์ป่าต่างประเทศ รวมทั้งเฝ้าระวังการลักลอบการนำเข้าสัตว์ป่ากลุ่มลิง และกลุ่มสัตว์ฟันแทะ ที่เข้ามาในราชอาณาจักร แจ้งให้ผู้ประกอบการที่นำเข้าสัตว์ป่ากลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นพาหะของโรคฝีดาษลิง ขอให้ตรวจโรคฝีดาษลิงเพิ่มเติมจากข้อบังคับการตรวจโรคของกรมปศุสัตว์ (REQUIREMENTS FOR THE IMPORTATION OF ZOO AND WILD ANIMALS INTO THE KINGDOM OF THAILAND) ประสานด่านกักกันสัตว์ ของกรมปศุสัตว์ ณ สนามบินสุวรรณภูมิ ขอให้ตรวจสอบใบรับรองสุขภาพสัตว์ (Health Certificate) ของผู้นำเข้าสัตว์ป่ากลุ่มเสี่ยง ว่าได้มีการตรวจโรคฝีดาษลิงหรือไม่ ก่อนอนุญาตให้นำเข้ามาในราชอาณาจักรไทย

ขอความร่วมมือผู้นำเข้าสัตว์ป่าต่างประเทศ หากเป็นไปได้ขอให้ชะลอการยื่นคำขอ หรือการนำเข้าสัตว์ป่ากลุ่มเสี่ยงที่มาจากประเทศที่มีการระบาดของโรคผีดาษลิงเข้ามายังประเทศไทย ให้เจ้าหน้าที่ด่านตรวจสัตว์ป่าที่มีการนำเข้า นำผ่าน สัตว์ป่าต่างประเทศเพิ่มความเข้มงวดและความปลอดภัยในการปฏิบัติงานตามมาตรการสาธารณสุข เพราะมีโอกาสสัมผัสสัตว์ป่าที่เป็นพาหะของโรคฝีดาษลิง และดำเนินการสำรวจและเฝ้าระวังเชิงรุก ติดตามตรวจสอบสุขภาพของสัตว์ป่ากลุ่มลิงและกลุ่มสัตว์ฟันแทะที่ได้นำเข้ามาในประเทศไทย เพื่อให้มั่นใจว่าสัตว์ป่าดังกล่าวไม่เป็นพาหะของโรคฝีดาษลิง พร้อมทั้งสอบถามสุขภาพของผู้เลี้ยงว่ามีอาการที่คล้ายคลึงกับผู้ติดเชื้อจากโรคฝีดาษลิงหรือไม่ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทาง e-Service ให้ผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าต่างประเทศฝ้าระวังโรคฝีดาษลิง หากมีข้อสงสัย หรือเหตุฉุกเฉินขอให้แจ้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สายด่วน 1362

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน และติดจากคนสู่คนได้ โรคนี้พบมากในประเทศแถบแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก ได้แก่ แคเมอรูน สาธารณรัฐแอฟริกากลาง คองโก กาบอง ไลบีเรีย ไนจีเรีย และเซียร์ราลีโอน การพบผู้ป่วยในประเทศนอกเขตแอฟริกา มักเกิดจากการเดินทางระหว่างประเทศหรือการนำเข้าสัตว์ที่ติดเชื้อ ปัจจุบันมีรายงานว่าพบผู้ป่วยมากกว่า 145 รายใน 15 ประเทศ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย อิสราเอล สหราชอาณาจักร สเปน โปรตุเกส อิตาลี เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส เยอรมนี สวีเดนเนเธอร์แลน สวิตเซอร์แลน และ กรีซโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus พบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนูป่า เป็นต้น รวมทั้งคนก็สามารถติดโรคได้ คนสามารถติดโรคจากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดข่วน การประกอบอาหารจากเนื้อสัตว์ป่า หรือกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ หรืออาจติดทางอ้อมจากการสัมผัสที่นอนของสัตว์ป่วย

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค ยืนยันว่าโรคผีดาษลิง (Monkeypox) ยังไม่พบในประเทศไทย โดยโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus พบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนูป่า เป็นต้น รวมทั้งคนก็สามารถติดโรคได้ คนสามารถติดโรคจากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดข่วน การประกอบอาหารจากเนื้อสัตว์ป่า หรือกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ หรืออาจติดทางอ้อมจากการสัมผัสที่นอนของสัตว์ป่วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด