• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพฯ ร่วมกับหน่วยพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ลุยตรวจคุณภาพน้ำห้วยผาลาด

วันที่ 15 สิงหาคม 2565 นายวุฒิชัย โสมวิภาต หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จ.เชียงใหม่ เผยว่า ตามที่มีผู้นำข้อมูลคุณภาพน้ำห้วยผาลาดหลายจุดที่เคยมีการตรวจวัดในอดีต มาเผยแพร่เป็นข่าวปรากฏในสื่อออนไลน์ ซึ่งอาจสร้างความตื่นตระหนกให้กับสาธารณชน

ล่าสุดเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ร่วมกับ นายประดิษฐ์ สีใส ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมและมลพิษที่ 1 หน่วยพิทักษ์สิ่งแวดล้อมที่ 1 เทศบาลตำบลดอยสุเทพ ศูนย์อนามัยที่ 1 และ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ ตลอดจนหน่วยงานด้านกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ประชุมด่วนเพื่อหารือเกี่ยวกับต้นตอแหล่งกำเนิดการปนเปื้อนของเชื้ออีโคไล และเข้าตรวจสอบคุณภาพน้ำห้วยผาลาด โดยคณะผู้ตรวจสอบได้ดำเนินการ สำรวจ เก็บตัวอย่างและคุณภาพน้ำลำห้วยผาลาดจำนวน 3 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 น้ำตกปปป (ปีนปักป้าย) จุดที่ 2 น้ำตกรับเสด็จและ จุดที่ 3 สะพานวัดผาลาด

โดยผลสำรวจการจัดการน้ำเสียของผู้ประกอบการ และชุมชนดอยสุเทพ พบว่า ชุมชนบริเวณหน้าวัดดอยสุเทพส่วนมากไม่มีการบำบัดน้ำเสีย ส่วนน้อยที่มีการติดตั้งถังดักไขมัน ส่วนชุมชนครัวเรือน มีการใช้ถังเกรอะ-ซึม น้ำเสียที่เกิดขึ้นจะไหลลงสู่ลำห้วยผาลาด ไหลลงสู่ด้านล่างผ่านจุดที่นักท่องเที่ยวและประชาชนใช้ประโยชน์รวมถึงใช้เป็นแหล่งนันทนาการ ซึ่งสำนักงานสิ่งแวดล้อมและมลพิษที่ 1 ให้ข้อมูลว่า ค่า E.coli เป็นพารามิเตอร์ที่ถูกกำหนดในมาตรฐานคุณภาพน้ำดื่มเพื่อการบริโภค ไม่ได้มีการกำหนดในมาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2537) ซึ่งเป็นการกำหนดมาตรฐานแม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง รวมทั้งน้ำตก โดยพารามิเตอร์ที่กำหนดมีวัตถุประสงค์เพื่อการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำนั้นๆ สคพ.1 ได้ดำเนินการตรวจวิเคราะห์ตามมาตรฐานน้ำผิวดิน ในพารามิเตอร์ด้านแบคทีเรีย ได้แก่ Total Coliform Bacteria (TCB) และ Fecal Coliform Bacteria (FCB) หากมีการตรวจพบ ก็บ่งชี้ว่าแหล่งน้ำนั้น มีการปนเปื้อนจากของเสียที่ออกมาจากสิ่งขับถ่ายของสัตว์เลือดอุ่น ซึ่งสะท้อนว่าอาจมีการระบายน้ำเสียจากชุมชนหรือครัวเรือนลงแหล่งน้ำ การนำค่าผลตรวจ Fecal Coliform Bacteria (FCB) ไปสื่อสารว่าเป็น E.coli อาจทำให้กับประชาชนหรือนักท่องเที่ยวสับสน

ทั้งนี้ น้ำตกรับเสด็จ เป็นเพียงลำน้ำที่ไหลผ่านบริเวณข้างทางสัญจร ไม่ได้ถูกใช้เป็นแหล่งนันทนาการ ซึ่งอุทยานฯ ได้มีแผนงานในการตรวจวัดคุณภาพน้ำอยู่แล้ว ในพื้นที่ที่จัดเป็นแหล่งนันทนาการ โดยมีการสำรวจคุณภาพน้ำปีละ 2 ครั้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด