• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

อุทยานฯ ดอยสุเทพ-ปุย แจงปรับพื้นที่หน้าน้ำตก ปปป. เป็นการปรับพื้นที่เดิม

อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย แจงปรับพื้นที่หน้าน้ำตก ปปป เป็นการปรับพื้นที่เดิม เพื่อกักเก็บน้ำอุปโภคบริโภคราษฎร และเพื่อความปลอดภัยนักท่องเที่ยว กรณีที่มีผู้โพสต์ลงสื่อออนไลน์ เฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 เกี่ยวกับการขุดปรับพื้นที่ในบริเวณหน้าน้ำตก ปปป. ว่าสร้างความเสียหายแก่ระบบนิเวศของอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย

วันที่ 2 มีนาคม 2566 นายกริชสยาม คงสตรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2565 คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้มีการประชุมหารือร่วมกับ จังหวัดเชียงใหม่ เทศบาลตำบลสุเทพ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 บ้านดอยสุเทพ และผู้เกี่ยวข้อง ได้มีการแจ้งถึงปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรในหมู่บ้านกรณีปัญหาภัยแล้ง แหล่งกักเก็บน้ำ สำหรับอุปโภคบริโภค ไม่เพียงพอ จึงได้เสนอโครงการปรับปรุงซ่อมแซมฝายน้ำล้น บริเวณใกล้น้ำตก ปปป. ซึ่งเคยเป็นแหล่งกักเก็บน้ำสำหรับใช้อุปโภค บริโภคที่สำคัญของราษฎรในหมู่บ้านพื้นที่ใกล้เคียง และเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของนักท่องเที่ยว เนื่องจากมีน้ำตกไหลมีแหล่งน้ำใสสะอาด

โดยตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีดินโคลนน้ำป่าไหลหลากทำให้มีตะกอนทับถมเต็มในบริเวณพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนเกิดน้ำป่าไหลหลากก่อให้เกิดอุบัติเหตุต่อชุมชนและนักท่องเที่ยว ต่อมาจังหวัดเชียงใหม่ได้มีหนังสือ ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 แจ้งมายัง สบอ.16 (เชียงใหม่) เพื่อให้พิจารณาสนับสนุนการปรับปรุง ซ่อมแซม เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และ สบอ.16 (เชียงใหม่) ได้มีหนังสือ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 แจ้งให้อุทยานแห่งชาติ ดอยสุเทพ-ปุย ดำเนินการ ซึ่งอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย พิจารณาแล้ว เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเดิมเคยเป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่สำคัญของราษฎรในหมู่บ้าน และพื้นที่ใกล้เคียง เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของนักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไป และที่ผ่านมาในช่วงฤดูฝนเกิดปัญหาน้ำป่าไหลหลาก พัดพาดินโคลนและตะกอน ลงบนถนน ก่อให้เกิดอันตรายเกิดอุบัติเหตุต่อผู้สัญจรไปมา และต่อนักท่องเที่ยว อีกทั้งเป็นการดำเนินการในบริเวณพื้นที่เดิม เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศไม่มาก

ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ป้องกันการเกิดภยันตราย ป้องกันภัยพิบัติน้ำป่าไหลหลาก สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ในการช่วยดูแล รักษาป่า ป้องกันไฟป่า ทางอุทยานฯจึงได้ดำเนินการจัดทำโครงการร่วม เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวตามระเบียบหลักเกณฑ์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชกำหนด ซึ่งจะเป็นการสร้างทัศนคติที่ดีระหว่างภาคประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งในการดูแลรักษาป่า และเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูฝนทางอุทยานฯ และภาคประชาชน จะได้ร่วมกันฟื้นฟูพื้นที่ดังกล่าวโดยการปลูกพืชที่สามารถกักเก็บน้ำได้ เพื่อรักษาความชุ่มชื่นในบริเวณดังกล่าวต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด