วันที่ 12 กรกฎาคม 2565 นักพฤกษศาสตร์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดย นายธีรวัฒน์ ทะนันไธสง นางสาวอนุสรา แก้วเหมือน และนายสมราน สุดดี หน่วยงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช ได้ร่วมกับ ผศ. ดร.สไว มัฐผา อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้วงศ์ถั่ว (Fabaceae) ของไทย ได้ร่วมกันตีพิมพ์พืชชนิดใหม่ของโลก “ม่วงราชสิริน” โดยการสนับสนุนการสำรวจในภาคสนามจากสำนักสนองงานพระราชดำริ กรมอุทยานฯ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) และโครงการอุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี
พืชชนิดใหม่นี้ถูกค้นพบโดยทีมงานนักพฤกษศาสตร์หอพรรณไม้ ระหว่างทำการสำรวจความหลากหลายของพรรณพืชบริเวณพื้นที่อุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ในเดือนสิงหาคม 2563 ซึ่งได้พบไม้เถาเนื้อแข็งไม่ทราบชนิด ซึ่งมีเฉพาะผล จึงได้ติดตามเก็บตัวอย่างและได้ตัวอย่างดอกในเดือนเมษายน 2564 ได้ทำการตรวจสอบตัวอย่าง พบเพิ่มเติมบริเวณอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จากการศึกษาอย่างละเอียดพบว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลกในสกุลกระพี้จั่น (Millettia) วงศ์ถั่ว (Fabaceae) จึงได้ร่วมเขียนตีพิมพ์
โดย กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ขอพระราชทานนาม ซึ่งมีชื่อพฤกษศาสตร์ที่ขอพระราชทานนามว่า Millettia sirindhorniana Mattapha, Thanant., Kaewmuan & Suddee คำระบุชนิด “sirindhorniana” ตั้งขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยพระองค์ท่านได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามการดำเนินงานของโครงการอุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2562 และได้มีพระกระแสรับสั่งต่อเจ้าหน้าที่ผู้เดินทางไปร่วมรับเสด็จ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ดำเนินการสำรวจชนิดพรรณไม้ในโครงการอุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพิ่มเติมอีก จำนวน 3 ลุ่มน้ำ จากเดิมที่สำรวจไปแล้ว 1 ลุ่มน้ำ พืชชนิดใหม่นี้มีชื่อไทยซึ่งเป็นนามพระราชทานว่า “ม่วงราชสิริน” ตัวอย่างต้นแบบเก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้
“ม่วงราชสิริน” มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง กิ่งอ่อนมีขนสั้นนุ่ม เกลี้ยงเมื่อแก่ ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ใบย่อย 7-9 ใบ เรียงตรงข้าม รูปขอบขนานถึงรูปไข่กลับ ใบปลายรูปไข่กลับ มีขนาดใกล้เคียงกับใบคู่ล่าง ๆ หรือใหญ่กว่าเล็กน้อย ใบทั้งหมดกว้าง 2.5-6 ซม. ยาว 5-15 ซม. ปลายเป็นติ่งแหลมถึงยาวคล้ายหาง โคนมนถึงมนกลม ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนมีขนตามเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบ ส่วนอื่นเกลี้ยง ด้านล่างมีขนสีน้ำตาลหนาแน่น เส้นแขนงใบข้างละ 6-10 เส้น ก้านใบยาว 6-10 ซม. มีขนสั้นนุ่ม ก้านใบย่อยยาว 3-5 มม. มีขนสั้นนุ่ม ไม่มีหูใบย่อย ช่อดอกออกเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง ช่อตั้งขึ้น มีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น ดอกสีม่วง มีเส้นสีม่วงแดงเข้มตามยาว ใบประดับและใบประดับย่อยมีขนาดเล็ก ด้านนอกมีขน ด้านในเกลี้ยง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมกันเป็นรูปถ้วย ยาว 2.5-3 มม. ผิวด้านนอกมีขนสีแดงหรือสีน้ำตาลแดง กลีบดอกกลีบกลางรูปเกือบกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 ซม. ปลายเว้าตี้น บนก้านกลีบมีต่อมนูน ผิวด้านนอกมีขนสีเงินที่ช่วงปลายกลีบ ช่วงโคนเกลี้ยง ด้านในเกลี้ยง กลีบคู่ข้างรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1 ซม. ปลายมน โคนตัด เกลี้ยงทั้ง 2 ด้าน กลีบคู่ล่างรูปขอบขนานแกมรูปเคียว ยาวประมาณ 1 ซม. ปลายมนกลม โคนมน ผิวด้านนอกมีขนสีเงิน ด้านในเกลี้ยง เกสรเพศผู้คล้ายเชื่อมติดกลุ่มเดียว รังไข่มีขนสั้นนุ่ม ผลรูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับ แบน กว้าง 1.5-2.5 ซม. ยาว 5-8 ซม. มีขนสีน้ำตาลหนาแน่น
นอกจากนี้ ผศ. ดร.สไว มัฐผา อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้วงศ์ถั่ว (Fabaceae) ของไทย ยังได้ร่วมกับนักพฤกษศาสตร์จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดย นางสาวนัยนา เทศนา หน่วยงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช ร่วมกันตีพิมพ์พืชชนิดใหม่ของโลกอีกชนิด คือ “ซ่อนแก้ว” โดยค้นพบที่จังหวัดเพชรบูรณ์ บริเวณวัดผาซ่อนแก้ว และที่จังหวัดเชียงราย บริเวณน้ำตกขุนกรณ์และอุทยานแห่งชาติขุนน้ำนางนอน ซึ่งดำเนินการภายใต้โครงการวิจัยความหลากหลายของพันธุ์พืชในระบบนิเวศเขาหินปูนประเทศไทย พืชชนิดนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Millettia tomentosa Mattapha & Tetsana” คำระบุชนิด “tomentosa” ตั้งตามลักษณะขนที่หนาแน่นบริเวณรังไข่และผล ส่วนชื่อไทย “ซ่อนแก้ว” ตั้งตามชื่อแหล่งเก็บตัวอย่างต้นแบบ ที่วัดผาซ่อนแก้ว ตัวอย่างต้นแบบเก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้
โดยผู้วิจัยได้ตรวจสอบชนิดที่มีการรายงานในภูมิภาคเอเชียและตัวอย่างพรรณไม้อ้างอิงทั้งในและต่างประเทศ พบว่าชนิดนี้ยังไม่มีการให้ชื่อพฤกษศาสตร์ การพบพืชชนิดนี้ครั้งแรกเป็นตัวอย่างเพียงแค่ฝัก ต่อมามีการตามเก็บตัวอย่างดอกเพื่อยืนยันชนิดที่ถูกต้องโดยใช้เวลา 8 ปี จนในที่สุดจึงได้ตัวอย่างที่สมบูรณ์ ได้แก่ ใบ ฝัก ดอก ผล และเมล็ด นำมาซึ่งการตรวจสอบและตั้งชื่อพฤกษศาสตร์ ประเทศไทยนับว่าพืชสกุลกระพี้จั่นมีความหลากหลายชนิดมากที่สุดในโลก ปัจจุบันประเทศไทยมีการค้นพบจำนวนชนิดใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะในสมัยอดีตยังไม่มีการศึกษารายละเอียดมากนัก และอาจเนื่องจากพืชสกุลนี้เป็นสกุลที่ยากต่อการศึกษา
สำหรับลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของ “ซ่อนแก้ว” เป็นไม้เถาเนื้อแข็งหรือไม้พุ่มกึ่งเลื้อย กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลหนาแน่น ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ใบย่อย 5-9 ใบ เรียงตรงข้าม รูปรี รูปไข่ หรือรูปไข่กลับ ใบปลายรูปไข่กลับ ใบทั้งหมดกว้าง 3-6 ซม. ยาว 8-15 ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนประปรายตามเส้นใบ ส่วนอื่นเกลี้ยง เส้นแขนงใบข้างละ 4-5 เส้น ก้านใบยาว 4-10 ซม. มีขนหนาแน่น ก้านใบย่อยยาว 4-5 มม. มีขนสั้นนุ่ม ไม่มีหูใบย่อย ช่อดอกออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง มีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น ใบประดับร่วงง่าย ดอกสีขาวถึงชมพูอ่อน กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมกันเป็นรูปถ้วย ยาว 2.5-3 มม. ผิวด้านนอกมีขนหนาแน่น กลีบดอกกลีบกลางรูปเกือบกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 ซม. ปลายเว้าบุ๋ม ช่วงกลางก้านกลีบมีต่อมนูน ผิวด้านนอกมีขนสีทองหนาแน่น ด้านในเกลี้ยง กลีบคู่ข้างรูปเคียว ยาว 7-8 มม. ปลายแหลม โคนตัด เกลี้ยงทั้ง 2 ด้าน กลีบคู่ล่างรูปเคียวถึงรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 6 มม. ผิวด้านนอกมีขนหนาแน่น ด้านในเกลี้ยง เกสรเพศผู้เชื่อมติดกลุ่มเดียว รังไข่มีขนหนาแน่น ผลรูปขอบขนานถึงรูปไข่กลับ แบน กว้างประมาณ 2 ซม. ยาว 8-11 ซม. มีขนหนาแน่น
อย่างไรก็ตามถือได้ว่า “ม่วงราชสิริน” (Millettia sirindhorniana Mattapha, Thanant., Kaewmuan & Suddee) และ “ซ่อนแก้ว” (Millettia tomentosa Mattapha & Tetsana) เป็นพืชชนิดใหม่ของโลกที่นักพฤกษศาสตร์ของไทยได้ค้นพบ ซึ่งทั้ง 2 ชนิดอยู่ในสกุลเดียวกันคือ สกุลกระพี้จั่น (Millettia) จากประเทศไทย โดยได้ตีพิมพ์ตามกฎเกณฑ์ทางพฤกษศาสตร์ในวารสารนานาชาติ Thai Forest Bulletin (Botany) เล่มที่ 50(2) หน้าที่ : 89-99 ปี พ.ศ. 2565 https://li01.tci-thaijo.org/index.php/ThaiForestBulletin/issue/current
เอกสารอ้างอิง: Mattapha, S., Suddee, S., Tetsana, N., Thananthaisong, T. & Kaewmuan, A. 2022. Millettia sirindhorniana and M. tomentosa, two new species of Millettia (Fabaceae: Millettieae) for Thailand. Thai Forest Bulletin (Botany) 50(2): 89–99.