นี่คือ ที่สุดแห่งสายน้ำของนักเดินทางที่ชื่นชอบการล่องแก่ง จากน้ำว้าตอนบนลงไปจนสุดปลายของน้ำว้าตอนล่าง ที่ไหลคดเคี้ยวเลี้ยวเลาะผ่านเกาะแก่ง โตรกผา ป่าใหญ่ผืนงามพิสุทธิ์ สีเขียวในฤดูฝน หรือช่วงฤดูร้อนที่ต้นไม้ผลัดใบกลายเป็นป่าเปลี่ยนสีที่งดงาม
แม่จริม ครอบคลุมผืนป่าน้ำว้า ป่าแม่จริม ป่าน้ำน่านฝั่งตะวันออกตอนใต้ และป่าห้วยสาลี่ ในท้องที่เขตอำเกอเวียงสา และอำเภอเเม่จริม จังหวัดน่าน รวมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 432 ตารางกิโลเมตร โดยประกาศให้เป็นเขตอุทยานเเห่งชาติในวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 และเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 106 ของประเทศ
ผืนป่าอุดมสมบูรณ์บนทิวเขาสลับซับซ้อนของทิวเขาหลวงพระบางและทิวเขาผีปันน้ำ ที่กางกั้นพรมแดนไทย-ลาวเอาไว้ เป็นดินแดนที่มีพงไพรบริสุทธิ์ซึ่งให้กำเนิดสายน้ำน้อยใหญ่อาทิ ลำน้ำว้าแห่งจังหวัดน่าน ที่เป็นหนึ่งในความสุดยอดของการผจญภัยล่องแก่งน้ำเชี่ยวอันตื่นเต้นและน่าระทึกใจ
“ลำน้ำว้า” เป็นสายลำน้ำที่ไหลคดเคี้ยวผ่านไปในป่าลึกเขตอำเภอบ่อเกลือและอำเภอแม่จริม พื้นที่แถบนี้ส่วนใหญ่มีสภาพเป็นป่าดงดิบและป่าเบญจพรรณอันอุดมสมบูรณ์ โดยสองฟากฝั่งเป็นโตรกผาหิน และป่าต้นน้ำบริสุทธิ์ ความพิเศษของลำน้ำว้าที่ไม่มีลำน้ำใดเหมือน คือ มีความคดเคี้ยวมาก ผาหินริมน้ำต่างมีรูปทรงและลวดลายเรียงตัวอย่างประหลาด และเหนือสิ่งอื่นใด ตลอดความยาวของลำน้ำสายนี้มีแก่งน้อยใหญ่อันแสนท้าทายอยู่มากนับ 100 แก่ง เหมาะสำหรับกิจกรรมล่องแพยางผจญภัยในลำน้ำเชี่ยวเป็นอย่างยิ่ง
ลำน้ำว้าตอนบนและกลางมีความยาวประมาณ 120 กิโลเมตร มีแก่งนับร้อย ๆ แก่ง ที่สามารถทำกิจกรรมล่องแก่งได้ โดยใช้เวลาประมาณ 2 วัน ช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ ระหว่างเดือนกันยายน - มกราคม เพราะกระแสน้ำไม่เชี่ยวกรากเกินไป ส่วนลำน้ำว้าตอนล่างมีความยาวประมาณ 30 กิโลเมตร เป็นช่วงที่ล่องน้ำได้ง่าย สนุกสนาน และปลอดภัยกว่า 2 ช่วงแรกมาก มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ มีแก่งอยู่ 5 แก่ง คือ แก่งปง แก่งหลวง แก่งสบแปง แก่งสาลี และแก่งต้นไทร สามารถล่องแก่งได้ตลอดทั้งปี ซึ่งในช่วงฤดูแล้ง จะได้ชมทิวทัศน์ของป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ สองฟากฝั่งที่ผลัดใบสดใสมีสีสวยงามอีกด้วย
การเดินทางจากจังหวัดน่าน ใช้ทางหลวงหมายเลข 1168 (น่าน-แม่จริม) ระยะทางประมาณ 38 กิโลเมตร และจากแม่จริมเดินทางต่อไปตามทางหลวงหมายเลข 1243 (แม่จริม-น้ำมวบ) ถึงบ้านหาดทรายมูล แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปอีก 4 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ
ที่มา.. หนังสือที่สุดอุทยานแห่งชาติในประเทศไทย สำนักอุทยานแห่งชาติ (ISBN 978-616-316-504-6)