• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรมอุทยานแห่งชาติฯ คุมเข้มด่านตรวจสัตว์ป่าป้องกันการแพร่ระบาดโรคฝีดาษลิง

วันที่ 23 พฤษภาคม 2565 นายประเสริฐ สอนสถาพรกุล ผู้อำนวยการกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา (Cites) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์ุพืช เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการปฏิบัติงาน กรณีโรคฝีดาษลิง โดยมี นายสัตวแพทย์ ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตว์แพทย์หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า นายสธน คงเงิน หัวหน้าด่านตรวจสัตว์ป่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายแพทย์ พัฒน์พงษ์ ไชยนิคม รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) แพทย์หญิง ตุลยา ดิเรกวุฒิกุล หัวหน้าด่านควบคุมโรคท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ. สพ.ญ.ณัฐกานต์ คุรุพันธ์ ด่านกักกันสัตว์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสำนักงานด่านกักกันสัตว์ อาคารศูนย์บริการเขตปลอดอากร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

นายประเสริฐ สอนสถาพรกุล ผู้อำนวยการกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา กล่าวว่า โรคฝีดาษลิง ขณะนี้กำลังเป็นโรคที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในฐานะหน่วยงานที่ควบคุมและตรวจสอบการส่งออก นำเข้า หรือนำส่งต่อเพื่อการค้าซึ่งชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าที่ระบุไว้ในบัญชี หมายเลข 1 หมายเลข 2 และหมายเลข 3 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้ สูญพันธ์ุ (CITES) จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อร่วมกันเพื่อหาแนวทางการป้องกันดังกล่าว

ด้าน นายสัตวแพทย์ ภัทรพล มณีอ่อน กล่าวว่า ประเทศไทยยังไม่มีรายงานผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง อย่างไรก็ตามกรมอุทยานฯ ได้มีแผนดำเนินการสำรวจและเฝ้าระวังเชิงรุกและย้อนกลับไป ซึ่งที่ผ่านมากรมอุทยานฯ มีการสำรวจและเฝ้าระวังลิงในหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อเกิดกรณีดังกล่าว กรมจะเพิ่มโรคนี้ในชื่อของโรคที่เฝ้าระวังเพิ่มขึ้นอีกด้วย ขณะเดียวกันจะมีการดำเนินการตรวจสอบประวัติลิงในพื้นทีเลี่ยงว่าลิงเหล่านี้มีสุขภาพเป็นอย่างไร ทั้งนี้ สิ่งสำคัญในตอนนี้ คือความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานและเจ้าหน้าที่ทำงานด้านสัตว์ป่า ซึ่งโรคเหล่านี้เกิดได้จากสารคัดหลัง ผู้ปฏิบัติงานในด่านตรวจสัตว์ป่าจึงต้องเพิ่มความเข้มงวดและความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน โดยสวมถุงมือในการทำงาน อาจสวมรองเท้าบูท การดูแล สุขภาวะ สุขอนามัยในพื้นที่ให้มีความสะอาดอยู่เสมอ สำหรับประชาชนที่มีความกังวลใจในโรคดังกล่าว ขอให้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด และควรระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์พาหะ ได้แก่ สัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก และสัตว์ตระกูลไพรเมต เช่น ลิง หากมีการสัมผัสสัตว์ให้รีบล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาด ให้สังเกตอาการ หากพบมีความผิดปกติ เช่น มีไข้ มีตุ่มผื่นที่ใบหน้า แขน และขา ให้รีบพบแพทย์ทันที

ทั้งนี้ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาแนวทางโดยจะมีการเข้มงวด การตรวจสุขภาพสัตว์ป่าที่นำเข้ามาในประเทศ และนำเสนอผู้บริหารของกรมปศุสัตว์ให้พิจารณา เพิ่มการตรวจโรคฝีดาษลิง สำหรับสัตว์ป่าที่จะนำเข้ามาจากประเทศในกลุ่มแอฟริกา ด่านตรวจสัตว์ป่า ได้ประสานผู้ประกอบการ ให้ชะลอการนำเข้า เพื่อรอรับฟัง มาตรการเพิ่มเติม และสำหรับสัตว์ป่า ที่มีการนำเข้าจากประเทศในกลุ่มแอฟริกา ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าจะประสานขอข้อมูลเพื่อติดต่อผู้ประกอบการ ในการสำรวจข้อมูลการเฝ้าระวังในสัตว์ป่าที่มีการนำเข้ามาแล้วต่อไป ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ ประสานงาน และดำเนินการภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว สุดท้ายได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานโดยเฉพาะผู้ที่ต้องสัมผัสสัตว์ป่านำเข้าจากต่างประเทศมีความเข้มงวดในการป้องกันการติดเชื้อโรคสัตว์สู่คนโดยให้เข้มงวดในการใช้อุปกรณ์ป้องกันตัวเอง และนำระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (biosecurity) มาปรับใช้ในการปฏิบัติงานและมาตรการให้เหมาะสม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด