• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

สบอ.12 (นครสวรรค์) เผยความก้าวหน้าการสำรวจศึกษา ‘ควายป่า’ แห่งลำห้วยขาแข้ง

วันที่ 22 เมษายน 2565 นางอัจฉรา ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) เปิดเผย​ว่า​ คณะทำงานศึกษาควายป่าในห้วยขาแข้งประกอบด้วย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ และกลุ่มงานวิชาการ ร่วมกันสำรวจความก้าวหน้าการศึกษาควายป่าแห่งลำห้วยขาแข้ง ควายป่า ชื่อสามัญภาษาอังกฤษคือ wild water buffalo ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะการใช้ชีวิตที่ต้องการปัจจัยทางนิเวศหลักๆได้แก่ แหล่งที่ราบน้ำท่วมถึง หนองน้ำ และป่าริมน้ำที่เป็นแหล่งพืชอาหารของควายป่าโดยเฉพาะพวกหญ้า โดยปัจจัยแวดล้อมดังกล่าวเป็นลักษณะที่พบได้ที่ ลำห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นลำห้วยสายหลักที่มีความกว้างของลำน้ำและมีที่ราบกว้างใหญ่ที่สามารถมองเห็นได้ แต่อย่างไรก็ตามนอกจากที่ราบริมลำห้วยแล้ว “หนองน้ำ” ก็เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับควายป่าในการช่วยควบคุมอุณหภูมิร่างกาย เพื่อคลายความร้อน ขัดผิว และไล่แมลง

โดยช่วงวันที่ 8 – 10 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา นายสันต์ภพ อัศวประภาพงศ์ ผู้ช่วยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้ทำการติดตั้งกล้องดักถ่ายอัตโนมัติ ทำให้ทราบถึงจำนวนควายป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีอยู่ประมาณ 45 ตัว จึงมีความต้องการที่จะทราบถิ่นที่อยู่อาศัยของควายป่า มีความสัมพันธ์กับหนองน้ำ หรือปลัก ที่ควายนอนโคลนหรือไม่ และนำทีมเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เข้าสำรวจหนองน้ำรวมถึงปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของควายป่าแล้วได้พบว่า ตลอดแนวลำห้วยขาแข้งนั้นมีหนองน้ำกระจายอยู่ทั่วไปโดยอยู่ห่างจากลำห้วย 50-100 เมตร ซึ่งแบ่งได้ออกเป็นสองลักษณะคือ หนองน้ำที่พื้นผิวเป็นดินทรายละเอียดที่พบได้ตั้งแต่เขาบันไดถึงโป่งตาเต่า และหนองน้ำที่พื้นผิวเป็นดินเหนียวพบได้จากโป่งตาเต่าจนถึงหน่วยพิทักษ์ป่ากรึงไกร นอกจากการสำรวจปัจจัยทางนิเวศแล้วในครั้งนี้ ได้มีการตั้งกล้องดักถ่ายเพิ่มเติมตามลำห้วยขาแข้งทางทิศเหนือ จากหน่วยพิทักษ์ป่าห้วยมดแดงจนถึงหน่วยพิทักษ์ป่าเขาบันไดและในจุดที่เป็นหนองน้ำที่พบร่องรอยควายป่าเข้าใช้ประโยชน์

ทั้งนี้ นายมีเดช เจริญกิจวนารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การติดตั้งกล้องดักถ่ายอัตโนมัติ และการสำรวจหนองน้ำ หรือปลัก ใกล้ถิ่นที่อยู่อาศัยของควายป่า เป็นการเก็บข้อมูลต่างๆ เพื่อนำมาบริหารจัดการพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าให้มีความสมบูรณ์เป็นแหล่งอาศัยที่เหมาะสม ซึ่งควายที่ห้วยขาแข้งแต่ละตัวยังมีขนาดไม่สมบูรณ์ แสดงว่าจำนวนควายป่าในห้วยขาแข้งอาจจะถูกจำกัดด้วยแหล่งอาหารตามธรรมชาติ หรือสภาพภูมิประเทศที่ยังไม่เหมาะสมกับการอาศัย หากมีการจัดการจะสามารถเพิ่มจำนวนประชากรควายป่า และเป็นแหล่งพันธุกรรมเพื่อปรับปรุงพันธุ์และเอื้อประโยชน์ต่อการปศุสัตว์ ต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด