• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ฮือฮา! พบ ‘ผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียล’ ที่อุทยานฯ ดอยผ้าห่มปก หลังหายไปนานกว่า 10 ปี

วันที่ 31 มีนาคม 2565 นางรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับรายงานจาก นางสาวนงพงา ปาเฉย นักกีฏวิทยาชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานวิจัยกีฏวิทยาและจุลชีววิทยาป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช แจ้งว่าเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2565 ได้พบผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียล (Teinopalpus imperialis) ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นแมลงคุ้มครองภายใต้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 และเป็นแมลงที่อยู่ในบัญชีที่ 2 แห่งอนุสัญญา CITES มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งไม่มีรายงานการพบผีเสื้อชนิดนี้มานานมากกว่า 10 ปี

โดยการพบผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียลครั้งนี้ เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งสำหรับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เนื่องจากเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่า ธรรมชาติและระบบนิเวศในพื้นที่ได้กลับมาอุดมสมบูรณ์ เหมาะสมกับการดำรงชีวิตและขยายเผ่าพันธุ์สิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่นอีกครั้ง จึงได้สั่งการให้ทีมนักวิจัยของสำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช เร่งดำเนินการเก็บข้อมูลทางชีววิทยาและนิเวศวิทยาที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม พร้อมทั้งหาแนวทางอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียลดังกล่าว และทางอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปกจึงได้มีความจำเป็นที่จะต้องสั่งปิดพื้นที่บริเวณที่พบผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียลเป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันการรบกวนระบบนิเวศและพฤติกรรมของผีเสื้อชนิดนี้ เนื่องจากคาดว่าในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน เป็นฤดูผสมพันธุ์และการวางไข่ของผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียล

สำหรับ ผีเสื้อไกเซอร์ (Teinopalpus imperialis) ลักษณะทั่วไป: ผีเสื้อเพศผู้ (Teinopalpus imperialis) และเพศเมีย Teinopalpus imperialis มีสีสัน ลวดลายที่ต่างกัน โดยเพศผู้มีขนาดเล็กกว่า และโคนปีกสีเขียวเข้มสะท้อนแสง ที่ปีกคู่หลังมีแถบสีเหลืองปรากฏที่กลางปีกรวมทั้งมีติ่งแหลมที่ปลายปีกคู่หลัง 1 ติ่ง ปลายติ่งสีเหลือง ส่วนเพศเมียโคนปีกสีเข้มเข้มเช่นกันส่วนปลายปีกสีเทาที่ปีกคู่หลังมีติ่งหางยาว 2 ติ่ง โดยติ่งที่ยาวที่สุดมีสีเหลืองที่ปลายติ่ง เป็นผีเสื้อที่บินเร็ว และปราดเปรียว มักจะเกาะบนต้นไม้สูง และจะพบบินในช่วงเวลาเช้า 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น มีเขตการแพร่กระจายที่ เนปาล ภูฏาน จนถึงภาคตะวันออกของเทือกเขาหิมาลายา ในประเทศอินเดีย (West Bengal, Meghalaya, Assam, Sikkim and Manipur) ตลอดจนภาคเหนือของประเทศเมียนมาร์ และมณฑลเสฉวนในจีน ซึ่งทั้งหมดพบในระดับความสูงมากกว่า 6000 ฟุต (ประมาณ 1800 เมตร) ประเทศไทย ลาว และเวียดนาม ในประเทศไทย มีรายงานการพบเพียง 3 แห่งเท่านั้น ทั้งหมดกระจายอยู่ในภาคเหนือ และมียอดเขาสูงมากกว่า 1800 เมตร คือ อุทยานแห่งชาติฟ้าห่มปก อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ และอุทยานแห่งชาติดอยภูคา จังหวัดน่าน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด