• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรมอุทยานฯ ร่วมประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนโครงการอาหารปันสุข (Zero Food Waste)

วันที่ 28 มีนาคม 2565 นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เข้าร่วมพิธีประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนโครงการอาหารปันสุข (Zero Food Waste) ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร่วมกับบริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (โลตัส) เพื่อประกาศเจตนารมณ์การขับเคลื่อนโครงการมุ่งลดการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะอาหารที่ยังรับประทานได้ หรือ “อาหารส่วนเกิน” และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดตามแนวคิด “ชีวิตวิถีใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” พร้อมขยายเครือข่ายความร่วมมือสู่ร้านค้า ร้านอาหาร ซูเปอร์มาเก็ต ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ โดยมี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวง ทส. เข้าร่วม ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขยะอาหาร ถือเป็นหนึ่งในประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกให้ความสนใจ จากการประเมินขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พบว่า มีอาหารที่ถูกทิ้งเป็นขยะอาหารประมาณ 1.6 พันล้านตันต่อปี การเน่าเสียของอาหารจะปล่อยก๊าซมีเทนที่มีศักยภาพเป็นก๊าซเรือนกระจก ที่ส่งผลทำให้โลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ถึง 25 เท่า โดยในแต่ละปีจะมีขยะอาหารที่ถูกฝังกลบประมาณ 1.3 พันล้านตัน ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษคิดเป็นร้อยละ 8 ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ ในขณะที่ประเทศไทยมีขยะอินทรีย์ที่เกิดขึ้นมากถึง 17.56 ล้านตันต่อปี คนไทยทิ้งขยะอาหารมากถึง 254 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ซึ่งพบว่าแต่ละปีเพิ่มปริมาณสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อปัญหาสิ่งแวดล้อมจากของเสีย สร้างมลพิษ สะสมเชื้อโรค สู่ภาวะโลกร้อนในที่สุด จึงเป็นหนึ่งในวาระของประเทศไทยที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวต่อว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะอาหารที่ยังรับประทานได้ หรือ “อาหารส่วนเกิน”
จึงได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเดินหน้าสร้างความร่วมมือกับภาคีที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยในวันนี้จึงได้จัดพิธีประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนโครงการอาหารปันสุข (Zero Food Waste) ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับบริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (โลตัส) เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่จะลดประมาณขยะอาหารจำนวนมหาศาลนี้ได้ ผมจึงขอเชิญชวนร้านค้า ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาเก็ต และร้านสะดวกซื้อ ร่วมกันขับเคลื่อน ลดปริมาณขยะอาหารที่เกิดขึ้น โดยใช้ประโยชน์จากอาหารที่ยังรับประทานได้ หรือเรียกว่า “อาหารส่วนเกิน” ที่อาจเหลือจากการจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็น ผักผลไม้ อาหารสด หรืออาหารปรุงสำเร็จส่งต่อให้กับหน่วยงานหรือองค์กรไม่แสวงกำไร นำไปแจกจ่ายให้ผู้ที่ต้องการ หรือนำไปเป็นอาหารสัตว์ ทำให้ลดขยะหรือของเสียเหลือศูนย์ (Zero Waste) นำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและการขาดแคลนทรัพยากรของประเทศเป็นการปฏิวัติรูปแบบการใช้พลังงานและวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ รักษาสมดุลระหว่างมนุษย์กับทรัพยากร นำไปสู่ความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 สำหรับหน่วยงานภาคีเครือข่ายร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนโครงการอาหารปันสุข (Zero Food Waste) จำนวน 5 หน่วยงาน ได้แก่ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และบริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (โลตัส) เพื่อมุ่งลดการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะอาหาร โดยใช้ประโยชน์จากอาหารที่ยังรับประทานได้ หรือเรียกว่า “อาหารส่วนเกิน” ส่งต่อให้กับมูลนิธิรับบริจาคอาหารนำไปแจกจ่ายให้ผู้ที่ต้องการ หรือนำไปเป็นอาหารสัตว์ในสวนสัตว์ภายใต้ความรับผิดชอบขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทั้ง 7 แห่ง คือ (1) สวนสัตว์เขาดิน (แห่งใหม่) (2) สวนสัตว์เปิดเขาเขียว (3) สวนสัตว์เชียงใหม่ (4) สวนสัตว์นครราชสีมา (5) สวนสัตว์สงขลา (6) สวนสัตว์อุบลราชธานี และ (7) สวนสัตว์ขอนแก่น

อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ จำนวน 154 แห่ง รวมทั้งองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ที่จะนำอาหารที่ยังรับประทานได้ไปเป็นอาหารสัตว์ในศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยทั้ง 2 แห่ง คือ (1) ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จังหวัดลำปาง และ (2) โรงพยาบาลช้าง จังหวัดกระบี่ หรือนำอาหารที่เสื่อมสภาพแล้วไปหมักทำปุ๋ยชีวภาพ ใช้ภายในพื้นที่ของสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการช่วยลดขยะอาหารได้ และจะขยายความร่วมมือไปยังภาคีภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะร้านค้า ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาเก็ต และร้านสะดวกซื้อ  ซึ่งจะก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ลดปริมาณขยะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ด้วยแนวคิด “ชีวิตวิถีใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด