วันที่ 6 มีนาคม 2565 นายเพิ่มศักดิ์ กนิษฐชาต หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งออกลาดตระเวนเก็บและจัดการภาพข้อมูลกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ จำนวน 10 จุด เพื่อตรวจสอบและติดตามสัตว์กีบ จากโรคลัมปี สกิน จากการตรวจสอบยังไม่พบความผิดปกติว่าสัตว์ติดโรคลัมปี สกิน แต่อย่างใด พบสัตว์ป่าที่บงบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่า ได้แก่ กวางป่า หมูป่า วัวแดง นกเขาใหญ่ นกยูง กระต่ายป่า นกกระแตแต้แว้ด ช้างป่า อีเห็นข้างลาย เก้งธรรมดา ลิงวอก เสือโคร่ง และเลียงผา
โรคลัมปี สกิน เป็นโรคระบาดที่ติดต่อจากการสัมผัส มีแมลงดูดเลือดเป็นพาหะ ถ้าปศุสัตว์นำสัตว์ไปเลี้ยงไว้ในพื้นที่อนุรักษ์ที่มีสัตว์ป่าอยู่ ก็จะนำโรคติดต่อสู่สัตว์ป่าโดยตรง ขณะเดียวกันสัตว์ป่าที่อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ ถ้าออกมาหากินนอกพื้นที่ป่าหรือใช้พื้นที่ร่วมกับปศุสัตว์ ก็อาจจะติดโรคได้ โรคลัมปี สกิน ถ้าสัตว์ป่าตัวไหนเป็นก็จะมีความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจน หรือมีผลกระทบรุนแรง ในระยะฟักตัว 28 วัน มาตรการป้องกันเฝ้าระวังอันดับแรก คือ เน้นการป้องกันในสัตว์ที่สามารถควบคุมและเข้าถึงตัวได้ เพราะถ้าติดสู่สัตว์ป่าแล้วจะควบคุมยาก