• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

จับได้แล้ว ‘เสือโคร่งห้วยขาแข้ง’ หลังวางกับดักล่อ ติดปลอกคอวิทยุปล่อยสู่ป่าธรรมชาติ

วันที่ 12 มกราคม 2565 นายมีเดช เจริญกิจวนารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 เปิดเผยว่า จากกรณีเสือโคร่งออกนอกป่าห้วยขาแข้ง ในท้องที่บริเวณบ้านบึงเจริญ หมู่ที่ 9 ตำบลระบำ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี และได้ล่าสุนัขกินเป็นอาหาร เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 ที่ผ่านมานั้น โดย สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) ได้ดำเนินการประชุมร่วมปฏิบัติการติดตามหาร่องรอยเสือโคร่ง โดยการปรับแนวทางปฏิบัติงาน การเตรียมการควบคุมพื้นที่ปิดล้อมประมาณ 80 ไร่ มีการซ่อมแซมรั้วเสริมประสิทธิภาพในการควบคุมพื้นที่ปิดล้อม การวางกับดัก การประสานขอกำลัง อปพร. เฝ้าระวังในพื้นที่ และแจ้งให้ผู้นำชุมชนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเก็บ ดูแลสัตว์เลี้ยงให้อยู่ในพื้นที่ปลอดภัย

ล่าสุดเมื่อเวลา 06.45 น. พบว่าเสือโคร่งได้ติดกับดัก ก่อนจะประสานสัตวแพทย์ประจำสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ทำการวางยาสลบและนำมาตรวจสุขภาพที่หน่วยพิทักษ์ป่าทุ่งแฝก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ผลการตรวจสอบสุขภาพเป็นเสือโคร่ง เพศผู้ อายุประมาณ 10 ปี ซึ่งเป็นเสือที่มีอายุมาก สุขภาพจึงเป็นไปตามอายุและพบรอยแผลที่ขา จากการประเมินสุขภาพแล้วไม่เป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิต เจ้าหน้าที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ จึงได้ติดปลอกคอวิทยุติดตามตัวเพื่อตรวจสอบการเคลื่อนที่ของเสือโคร่ง

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) ได้ทำการเคลื่อนย้ายเสือโคร่งไปปล่อยสู่ป่าธรรมชาติที่บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่ายางแดง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ห่างจากแนวเขตประมาณ 60 กิโลเมตร ซึ่งการดำเนินการเคลื่อนย้ายได้ดำเนินการเป็นไปตามหลักวิชาการ คำนึงถึงสุขภาพของเสือโคร่งเป็นสำคัญ โดยจะได้ติดตามสัญญาณวิทยุจากปลอกคอว่าเสือโคร่งสามารถดำรงชีพได้อย่างปกติหรือไม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด