• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรมอุทยานฯ ลงนาม MOU อนุรักษ์ซากดึกดำบรรพ์ อช.ดอยสอยมาลัย-ไม้กลายเป็นหิน

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ด้านการอนุรักษ์และบริหารจัดการแหล่งซากดึกดำบรรพ์ พื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัย – ไม้กลายเป็นหิน  และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่สลิด ป่าโป่งแดง ต.ตากออก อ.บ้านตาก จ.ตาก ร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี และกรมป่าไม้ โดยมี นายพงศ์บุณย์ ปองทอง อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงผ่านระบบการประชุมทางไกล (VDO Conference) พร้อมด้วย นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล นางรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีฯ และนายดำรัส โพธิ์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารศูนย์ปฏิบัติการ กรมอุทยานแห่งชาติฯ (H.A. Slade)

การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการร่วมสนับสนุนการพัฒนาแหล่งซากดึกดำบรรพ์ เพื่อการอนุรักษ์ อย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาและยกระดับให้เป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ไม้กลายเป็นหิน (Petrified Wood Forest Park) เป็นแหล่งเรียนรู้เชิงอนุรักษ์ในระดับประเทศและระดับโลก ภายใต้กรอบและแนวทางความร่วมมือโดยสอดคล้องกับกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับของแต่ละหน่วยงาน โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการอนุรักษ์และบริหารจัดการแหล่งซากดึกดำบรรพ์ส่งเสริมการเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวิชาการด้านซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยา และธรรมชาติวิทยา รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การสร้างการรับรู้ และการให้บริการองค์ความรู้แก่ประชาชน สนับสนุนการใช้ทรัพยากร บุคลากร ความช่วยเหลือทางวิชาการ และความสามารถอื่น ๆ ตามภารกิจและอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และเกิดประโยชน์สูงสุด และพัฒนาบุคลากรของหน่วยงานทั้งสาม ด้านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การจัดการแหล่งเรียนรู้ การจัดกิจกรรม และการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยา และธรรมชาติวิทยา

ในส่วนของ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สนับสนุนการจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัย –
ไม้กลายเป็นหิน ตำบลตากออก อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก เพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการพื้นที่แหล่งซากดึกดำบรรพ์รวมถึงการสนับสนุนทรัพยากรบุคลากร และงบประมาณในการสร้างองค์ความรู้ บูรณาการองค์ความรู้ การจัดทำข้อมูล ป้ายสื่อความหมาย และสื่อต่าง ๆ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยา และธรรมชาติวิทยา รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การสร้างการรับรู้ และการให้บริการองค์ความรู้แก่ประชาชน รวมถึงร่วมสนับสนุนการพัฒนาแหล่งซากดึกดำบรรพ์ เพื่อการอนุรักษ์ อย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาและยกระดับให้เป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ไม้กลายเป็นหิน (Petrified Wood Forest Park) เป็นแหล่งเรียนรู้เชิงอนุรักษ์ในระดับประเทศและระดับโลก ซึ่งบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้มีระยะเวลา 5 ปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด