วันที่ 1 ธันวาคม 2564 นายสุระชัย โภคะมณี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติคลองลาน เปิดเผยว่า อุทยานแห่งชาติคลองลาน ดำเนินการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ การติดตามประชากรเสือโคร่งและเหยื่อด้วยกล้องดักถ่ายภาพ ในพื้นที่ผืนป่าตะวันตกตอนบน (Upper Western Complex) ซึ่งจัดโดย องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF ประเทศไทย) เพื่อติดตามประชากรเสือโคร่งและเหยื่อ ด้วยกล้องดักถ่ายภาพ ในพื้นที่ผืนป่าตะวันตกตอนบน
โดย อุทยานแห่งชาติคลองลาน และอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เป็นผืนป่าที่มีขนาดใหญ่และมีความสำคัญต่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและเหยื่อ เนื่องจากมีพื้นที่รวมกันกว่า 1,200 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของผืนป่าตะวันตก ติดต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีประชากรเสือโคร่งหนาแน่นที่สุดในประเทศไทยและภูมิภาค อุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลานจึงเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมต่อการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง ด้วยปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ และการไม่มีชุมชนอาศัยอยู่ภายในพื้นที่อนุรักษ์
สำหรับโครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลาน เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งภายใต้ข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้อง ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ร่วมกับ WWF -ประเทศไทย จัดทำขึ้นร่วมกับการใช้มาตรการป้องกันการกระทำผิดอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งเป้าหมายของโครงการฯ สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการอนุรักษ์เสือโคร่งแห่งชาติ (Thailand Tiger Action Plan 2010 – 2022) ที่ต้องการเพิ่มประชากรเสือโคร่งร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2565 ตามที่ประเทศไทยได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ในการประชุมสุดยอดผู้นำว่าด้วยการอนุรักษ์เสือโคร่งที่ประเทศรัสเซียเมื่อปี พ.ศ. 2553
เสือโคร่ง (Panthera tigris) เป็นสัตว์ที่มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศและยังเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ เนื่องจากเสือโคร่งเป็นสัตว์ที่ต้องการใช้พื้นที่อาศัยขนาดใหญ่และมีความต้องการสัตว์ที่เป็นเหยื่อที่หลากหลาย หากเสือโคร่งสามารถอาศัยอยู่ได้ ย่อมแสดงให้เห็นว่าสัตว์ชนิดต่าง ๆ ก็อาศัยอยู่ได้อย่างปกติเช่นกัน แต่ปัจจุบันประชากรของเสือโคร่งลดลงอย่างน่าเป็นห่วง จนถูกจัดให้อยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ (Endangered Species) เนื่องจากสาเหตุสำคัญ 3 ประการ คือ การสูญเสียที่อยู่อาศัย การถูกล่า และปริมาณของสัตว์ที่เป็นเหยื่อลดลง