วันที่ 16 สิงหาคม 2564 นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้จัดงานมอบรางวัลตราสัญลักษณ์ G – Green ระดับประเทศเสมือนจริง ประจำปี 2563 เพื่อประกาศเกียรติคุณแก่วิสาหกิจชุมชน สถานประกอบการประเภทโรงแรม อุทยานแห่งชาติ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการสำนักงานสีเขียว ผ่านระบบออนไลน์ โดยมีการปรับรูปแบบการตรวจประเมินให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid – 19)
ในส่วนของ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาอุทยานแห่งชาติ เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่มีมาตรฐาน มีการบริการที่ดีแก่นักท่องเที่ยว ตลอดจนมีมาตรการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์พลังงานและทรัพยากรอย่างเป็นรูปธรรม เป็นการยกระดับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของอุทยานแห่งชาติสู่มาตรฐานสากล นำไปสู่เป้าประสงค์ของการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยในปี พ.ศ. 2563 มีอุทยานแห่งชาติที่ได้รับรางวัลอุทยานแห่งชาติสีเขียว (Green National Parks) ซึ่งผ่านการตรวจประเมินทั้งสิ้น 30 แห่ง ดังนี้
รางวัลระดับทอง (ดีเยี่ยม) จำนวน 25 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง อุทยานแห่งชาติภูลังกา อุทยานแห่งชาติออบขาน อุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง อุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย อุทยานแห่งชาติเขาพนมเบญจา อุทยานแห่งชาติแม่ปืม อุทยานแห่งชาติภูสวนทราย อุทยานแห่งชาติภูผายล อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติแม่ยม อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช อุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว อุทยานแห่งชาติตาดหมอก อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า อุทยานแห่งชาติรามคำแหง อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน อุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ อุทยานแห่งชาติขุนแจ และอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง
ระดับเงิน (ดีมาก) จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี และอุทยานแห่งชาติทะเลบัน ระดับทองแดง (ดี) จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ และอุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรี
สำหรับ เกณฑ์การตรวจประเมินอุทยานแห่งชาติสีเขียวแบ่งเป็น 3 หมวด ดังนี้ หมวดที่ 1 การบริหารจัดการ ได้แก่ กำหนดแผนและเป้าหมายการจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงาน อย่างมีส่วนร่วม หมวดที่ 2 การจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การจัดการสำนักงาน บ้านพักเจ้าหน้าที่ ภูมิทัศน์และการจัดการน้ำ พลังงาน ขยะ และ หมวดที่ 3 สิ่งอำนวยความสะดวกและการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การจัดบริการป้านพัก ค่ายพักแรม พื้นที่กางเต้นท์ การจัดการห้องน้ำ ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึกศูนย์บริการนักท่องเที่ยว และการสื่อความหมายธรรมชาติ