ศูนย์ศึกษาและวิจัยอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 2 (ภูเก็ต) เดินหน้างานด้านการศึกษาและวิจัยติดตามสถานภาพของทรัพยากรธรรมชาติใน 6 อุทยานฯ ฝั่งอันดามันตอนบน พังงา-ภูเก็ต ชี้ห่วงหญ้าทะเล ปริมาณลดวูบ เปิดแผนของบฟื้นฟู และเพาะขยาย พร้อมโชว์ความสำเร็จ ช่วยไข่ฉลามกบ ดูแลจนได้ 14 ลูกฉลาม อีก 2 เดือนปล่อยคืนท้องทะเล
นายไพศาล บุญสวัสดิ์ นักวิชาการป่าไม้ปฏิบัติการ ศูนย์ศึกษาและวิจัยอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 2 (ภูเก็ต) เปิดเผยว่า “ศูนย์ศึกษาและวิจัยอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 2 (ภูเก็ต) เป็นหน่วยงานในสังกัดส่วนอุทยานแห่งชาติทางทะเล สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีภารกิจหลักคือ การศึกษาวิจัย และสำรวจติดตามสถานภาพของทรัพยากรธรรมชาติ และพัฒนานวัตกรรมในการจัดการอุทยานแห่งชาติทางทะเล และเน้นการคุ้มครองระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ให้เป็นแหล่งศึกษาวิจัย ศึกษาธรรมชาติ นันทนาการและการท่องเที่ยว รวมถึงการมีส่วนร่วมกับชุมชน และผู้เกี่ยวข้อง โดยรับผิดชอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเลฝั่งอันดามันตอนบนในจังหวัดพังงาและภูเก็ต 6 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่, อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง, อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์, อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน, อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา และอุทยานแห่งชาติสิรินาถ”
นายไพศาล กล่าวต่อไปว่า “สำหรับงานศึกษาวิจัยสำคัญ ที่ดำเนินการในขณะนี้ คือ การสำรวจ ติดตาม และประเมินสถานภาพแหล่งหญ้าทะเล ด้วยหญ้าทะเลเป็นทรัพยากรทางทะเลที่สำคัญ ทั้งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย เลี้ยงตัวอ่อนสัตว์น้ำ และแหล่งหากินของสัตว์ทะเลนานาชนิด และมีส่วนช่วยในการกรองและปรับปรุงคุณภาพน้ำ จากที่มีระบบรากที่คอยยึดจับเพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดินได้เป็นอย่างดี ซึ่งปัจจุบันต้องเรียนว่า หญ้าทะเลอยู่ในภาวะวิกฤต ดังนั้น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงได้จัดสรรงบประมาณให้ศูนย์ฯ เข้าไปศึกษาสำรวจ ติดตาม และประเมินสถานภาพหญ้าทะเลในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเลทั้ง 6 แห่ง”
“ทั้งนี้ จากการสำรวจ ติดตาม และประเมินสถานภาพแหล่งหญ้าทะเลในพื้นที่ พบว่า หญ้าทะเลมีปริมาณน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด จะมีเฉพาะในพื้นที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถที่มีหญ้าทะเลอยู่อย่างสมบูรณ์ แต่ความหลากหลายของสายพันธุ์ยังไม่มาก สาเหตุที่ทำให้หญ้าทะเลมีปริมาณลดลง สืบเนื่องจากกการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และเกิดจากตะกอนทราย แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีพื้นที่บางส่วน เช่น ที่หมู่เกาะสุรินทร์ ยังไม่ได้ทำการสำรวจ เนื่องจากเป็นแหล่งหญ้าทะน้ำลึก ซึ่งบางจุดลึกถึง 40 เมตร สำหรับโครงการที่จะดำเนินการต่อไปเกี่ยวกับหญ้าทะเล คือ การฟื้นฟู และการเพาะขยายหญ้าทะเล ขณะนี้ได้จัดทำโครงการเพื่อขออนุมัติงบประมาณไปยังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นที่เรียบร้อยแล้ว” นายไพศาล กล่าว
นายไพศาล กล่าวอีกว่า “ขณะที่ดำเนินการสำรวจ ติดตาม และประเมินสถานภาพแหล่งหญ้าทะเล พบว่า มีปลาฉลามกบได้ติดเครื่องมือประมงอยู่ จึงทำการช่วยเหลือด้วยการดักลอบ ซึ่งหลังจากที่ได้ช่วยเหลือ และปล่อยปลาฉลามกบไป พบว่าในลอบมีไข่ปลาฉลามกบติดอยู่ จึงเก็บไข่นำมาเพาะอนุบาลในบ่อเลี้ยง ก่อนปล่อนคืยกลับสู่ธรรมชาติ สำหรับฉลามกบ เป็นฉลามที่พบได้ทั่วไปในน่านน้ำไทย จะออกลูกเป็นไข่ ครั้งละ 2 ฟอง ไข่จะมีลักษณะเป็นกระเปาะรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดความยาว 7-9 ซม. ที่ปลายจะมีเส้นใยสำหรับยึดเกาะวัตถุใต้น้ำ วางไข่ตามกองหินใต้น้ำและกองสาหร่าย
“ในส่วนของไข่ปลาฉลามกบที่เก็บได้ มีจำนวน 24 ฟอง ทั้งนี้ เดิมทีหากปล่อยไว้เสี่ยงต่อการฟักอย่างมาก เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ล่าสุดเจ้าหน้าที่สามารถดูแลให้ไข่ฉลามกบสามารถฟักเป็นตัว และได้ทำการอนุบาลเพาะเลี้ยงจนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลาแล้ว 4 เดือน มีจำนวนปลาฉลามกบที่เลี้ยงรอด 14 ตัว ซึ่งตามแผนที่กำหนด จะเลี้ยงต่ออีกประมาณ 2 เดือน จากนั้นจะนำไปปล่อยคืนกลับสู่ท้องทะเลต่อไป” นายไพศาล กล่าว
พร้อมกันนี้ ศูนย์ศึกษาและวิจัยอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 2 (ภูเก็ต) ยังได้มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ด้วยการจัดทำเส้นทางศึกษาระบบนิเวศป่าชายเลน โดยนายไพศาล กล่าวว่า “เส้นทางศึกษาระบบนิเวศป่าชายเลน มีระยะทางรวม 600 เมตร เพื่อให้ผู้สนใจได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับลักษณะของไม้ป่าชายเลน ที่ต้องมีการปรับตัวให้สามารถเจริญเติบโตได้ในดินเลน จากระบบรากที่ใช้ในการค้ำยันลำต้น และใช้สำหรับหายใจ โดยทางศูนย์ฯ ได้จัดทำป้ายสื่อความหมายเกี่ยวกับพันธุ์ไม้ที่พบในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่บรรยายให้ความรู้ ซึ่งใช้เวลาเดินชมประมาณ 30 นาที หรือจะใช้วิธีการล่องเรือคายัคก็ได้ โดยใช้เวลาประมาณ 45 นาที ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ทุกวันในเวลาราชการ โดยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ศึกษาและวิจัยอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 2 จังหวัดภูเก็ต เลขที่ 92/7 หมู่ที่ 5 ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต โทรศัพท์/โทรสาร 0-7634-8526