• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

“เฉลิมชัย”ผลักดันขอสนับสนุนเงินช่วยเหลือเสี่ยงภัยสำหรับพิทักษ์ป่าที่ปฎิบัติงานเสี่ยงภัยเช่นเสือไฟ และชุดลาดตระเวนป้องกันปราบปราม

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะ ได้เดินทางไปยังศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาการควบคุมไฟป่าภาคกลาง เพื่อตรวจเยี่ยมการฝึกอบรมหลักสูตรเสริมสมรรถนะชุดปฏิบัติการพิเศษดับไฟป่ารุ่นแรก ซึ่งมีผู้เข้าอบรมจำนวน 207 นาย ณ ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาการควบคุมไฟป่าภาคกลาง จ.กาญจนบุรี

การฝึกอบรมครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-13 มกราคม 2568 เพื่อพัฒนาทั้งด้านร่างกายและจิตใจของเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า ให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ไฟป่าที่มีความท้าทายมากขึ้น นอกจากการเสริมสร้างสมรรถนะทางร่างกายและวินัยขั้นพื้นฐานแล้ว ผู้เข้าอบรมยังจะได้เรียนรู้เทคโนโลยีและวิทยาการใหม่ๆ ในการดับไฟป่า พร้อมฝึกการทำงานเป็นทีมและการอ่านสภาพภูมิประเทศในพื้นที่ปฏิบัติงานจริง

จากนั้น ดร.เฉลิมชัย ได้มอบนโยบายและแนวทางปฏิบัติงานการป้องกันไฟป่า พร้อมขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ทำให้ทั้งจุดความร้อน (Hotspot) และพื้นที่เผาไหม้ลดลง ซึ่งเป้าหมายปีนี้ต้องการลดพื้นที่เผาไหม้ลงอีก 25% ถือเป็นเรื่องท้าทายมาก และการแก้ไขปัญหาไฟป่าจำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือจากทุกฝ่าย นอกจากนี้​ รมว.ทส. ยังได้กล่าวอีกว่า เพื่อสนับสนุนในการปฏิบัติงานจะผลักดันในการสนับสนุนเงินช่วยเหลือสำหรับพิทักษ์ป่าที่ปฎิบัติงานเสี่ยงภัย เช่น ชุดเสือไฟ และชุดลาดตระเวนป้องกันปราบปราม และสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือที่ทันสมัยให้เจ้าหน้าที่ ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดในการปฏิบัติงานคือ ความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ทุกคน การฝึกอบรมครั้งนี้จึงจำเป็นต้องให้ทุกคนฝึกสมรรถนะให้มีร่างกายมีความแข็งแรง และพร้อมที่จะสามารถรับมือกับสถานการณ์ไฟป่าได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับฤดูไฟป่าที่กำลังจะมาถึงด้วย

นายอรรถพล​ เจริญชันษา​ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ​ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า​ การปฏิบัติงานดับไฟป่าถือเป็นภารกิจที่มีความเสี่ยงสูงและท้าทายอย่างยิ่ง เจ้าหน้าที่ต้องเผชิญกับอันตรายหลายรูปแบบทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่เต็มไปด้วยความท้าทายและความเสี่ยง เจ้าหน้าที่ต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนจัด ควันไฟหนาแน่น และต้องแบกอุปกรณ์ดับไฟที่มีน้ำหนักมากขึ้นเขาในพื้นที่ทุรกันดาร บางครั้งต้องเดินเท้าหลายชั่วโมงเพื่อเข้าถึงจุดเกิดเหตุ ทำงานต่อเนื่องในสภาพอากาศที่อุณหภูมิสูงถึง 40-50 องศาเซลเซียส และความรุนแรงของเปลวไฟ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีความเสี่ยงต่อโรคที่เกิดจากความร้อน เช่น ลมแดด (Heat Stroke) เสี่ยงต่อการบาดเจ็บจากการพลัดตกในพื้นที่สูงชัน อีกทั้งยังต้องระวังอันตรายจากสัตว์ป่าดุร้าย เช่น เสือ ช้าง งูพิษ และแมลงที่มีพิษ​ ที่อาจโจมตีเมื่อรู้สึกถูกคุกคาม

ความท้าทายอีกประการคือการเผชิญหน้ากับผู้กระทำผิดกฎหมาย ทั้งกลุ่มลักลอบตัดไม้ ผู้บุกรุกพื้นที่ หรือกลุ่มติดอาวุธอาจนำไปสู่การปะทะ​ รวมถึงกับดักสัตว์ป่า เช่น ปืนผูก (จั่นห้าว) หลุมดักสัตว์ และขวากไม้ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงขั้นพิการ หรือเสียชีวิตได้​ อีกทั้งการปฏิบัติงานในเวลากลางคืนยิ่งมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากทัศนวิสัยจำกัดและอาจถูกไฟป่าตัดเส้นทางหนีโดยไม่ทันตั้งตัว​ อาจทำให้ได้รับบาดเจ็บจากเปลวไฟที่มีความร้อนสูง ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตหากถูกไฟปิดล้อม โดยเฉพาะในเวลากลางคืนที่ทัศนวิสัยจำกัดและยากต่อการหาเส้นทางหนีไฟ​ นอกจากการปฏิบัติงานดังกล่าว​แล้ว​ ยังมีผลกระทบต่อสุขภาพจากการสูดดมควันพิษเป็นเวลานาน ส่งผลร้ายแรงต่อระบบทางเดินหายใจและสุขภาพในระยะยาว ด้วยความเสี่ยงที่หลากหลายเหล่านี้ เจ้าหน้าที่ดับไฟป่าจึงจำเป็นต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ ความชำนาญ ทักษะและองค์ความรู้เฉพาะด้าน เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย การฝึกอบรมครั้งนี้จึงมุ่งเน้นการพัฒนาทั้งด้านร่างกายและจิตใจ พร้อมเสริมความรู้ด้านเทคโนโลยีและวิทยาการใหม่ๆ ในการดับไฟป่า รวมถึงการฝึกทำงานเป็นทีมและการอ่านสภาพภูมิประเทศในพื้นที่จริง.

#เสือไฟ​ #กรมอุทยานแห่งชาติ​ #เสริมสมรรถนะชุดปฏิบัติการพิเศษดับไฟป่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด