กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับมูลนิธิไทยรักษ์ป่าและเอ็กโก กรุ๊ป รับ-ส่งมอบ พร้อมเปิดตัวเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาหัวนาคอย่างเป็นทางการ ภายใต้แนวคิด “เดินทางผ่านกาลเวลา สัมผัสหินร้อยล้านปี เรียนรู้นิเวศวิทยาถิ่นอีสาน”
วันที่ 16 ธันวาคม 2567 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รับมอบเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาหัวนาค พร้อมเปิดตัวเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาหัวนาคอย่างเป็นทางการ ภายใต้แนวคิด “เดินทางผ่านกาลเวลา สัมผัสหินร้อยล้านปี เรียนรู้นิเวศวิทยาถิ่นอีสาน” ณ อุทยานแห่งชาติภูแลนคา จังหวัดชัยภูมิ โดยมี ดร.จิราพร ศิริคำ ประธานกรรมการมูลนิธิไทยรักษ์ป่าและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ส่งมอบ พร้อมด้วยคุณสมบัติ ไตรรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ และหน่วยงานราชการในจังหวัดชัยภูมิ เครือข่ายโรงเรียน กลุ่มภาคีสิ่งแวดล้อมและงานศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฝ่ายปกครอง สื่อมวลชน เข้าร่วมงาน
ภายในงานมีกิจกรรมการเสวนาในหัวข้อ “เส้นทางศึกษาธรรมชาติ กลไกการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ” โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต นายเด่น รัตนชัย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูแลนคา อาจารย์จุลพร นันทพานิช ผู้ออกแบบเส้นทางฯ และนางสาวมานนีย์ พาทยาชีวะ เลขาธิการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า
การส่งมอบเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาหัวนาค มีระยะทาง 2.66 กิโลเมตร ซึ่งเป็นความร่วมมือฉบับที่ 4 ระหว่างมูลนิธิไทยรักษ์ป่าและบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) กับกรมอุทยานแห่งชาติฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สำคัญ และเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านธรรมชาติสำหรับนักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไป ไฮไลท์สำคัญของเส้นทางศึกษาธรรมชาติแห่งนี้คือ การพาผู้เดินทางย้อนเวลาผ่านแนวสันเขารูปอีโต้ (Cuesta) ระยะทาง 2.66 กิโลเมตร บริเวณผาห้วนาค ซึ่งเป็นแนวเขาหินทรายที่มีอายุมากกว่า 125 ล้านปี เส้นทางได้รับการออกแบบให้ผู้เข้าชมได้สัมผัสความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่หลากหลาย ทั้งพลาญหินทรายที่สลับกับถิ่นร่วมบนทราย ซึ่งแต่ละช่วงมีระบบนิเวศและสังคมพืชที่แตกต่างกันอย่างน่าทึ่ง
จุดเด่นของเส้นทางคือ การออกแบบที่คำนึงถึงผู้ใช้งานทุกกลุ่ม ด้วยการจัดทำทางเดินที่ปลอดภัยและเข้าถึงง่าย ผู้เข้าชมจะได้เรียนรู้และสัมผัสความหลากหลายของระบบนิเวศ ตั้งแต่ทุ่งหญ้า ป่าเต็งรัง ป่าดิบเขาต่ำ และป่าบนพะลานหิน ที่มีการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล สร้างทัศนียภาพที่แตกต่างและงดงามตลอดทั้งปี
นอกจากอุทยานแห่งชาติภูแลนคาแล้ว มูลนิธิไทยรักษ์ป่ายังได้ร่วมพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติอื่นๆ อีกหลายแห่ง อาทิ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จังหวัดเชียงใหม่ และอุทยานแห่งชาติเขาหลวง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมุ่งหวังให้เป็นการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติแก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป เพื่อร่วมกันดูแลรักษาสมบัติของชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป.