เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2567 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่สำรวจเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะไกล “สันพญานาค” ณ อุทยานแห่งชาติภูแลนคา จังหวัดชัยภูมิ โดยมีนายเด่น รัตนชัย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูแลนคา นำเยี่ยมชมเส้นทาง เริ่มต้นจากจุดชมวิวมาหัวนาค (หัวพญานาค) ตำบลท่าหินโงม ไปจนถึงจุดชมวิวผากล้วยไม้ (หางพญานาค) ตำบลห้วยต้อน อำเภอเมืองชัยภูมิ ระยะทางรวม 12.33 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 7 ชั่วโมง
เส้นทางศึกษาธรรมชาติสันพญานาค เป็นเส้นทางเดินป่าที่มีความยากระดับ 3 จาก 5 ประกอบด้วยจุดศึกษาธรรมชาติที่น่าสนใจ 16 จุด เริ่มต้นที่เศียรพญานาคโค หรือผาหัวนาค ซึ่งเป็นหน้าผาสูงความยาว 450 เมตร สูงจากระดับน้ำทะเล 905 เมตร มีจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นสันเขาคดเคี้ยวคล้ายพญานาค วิวทิวทัศน์ของเทือกเขาเพชรบูรณ์ อำเภอหนองบัวแดง และอำเภอเกษตรสมบูรณ์ ตามตำนานเล่าว่าเป็นที่สถิตของพญานาค “นาโค” ผู้ปกปักรักษาคุ้มครองชาวนครกลางหาว
จุดที่น่าสนใจตลอดเส้นทางประกอบด้วย “นักบุญแห่งป่า” ต้นไทรใหญ่บนก้อนหินที่เป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่า “ปลักหมูป่า” พื้นที่น้ำซับที่หมูป่าใช้เกลือกกลั้วตัว “บันไดเกล็ดนาคา” ชั้นหินเรียงตัวคล้ายเกล็ดพญานาค “หุบช่องช้าง” ร่องน้ำที่เคยเป็นเส้นทางชักลากไม้ของช้าง และ “หัวใจพญานาโค” จุดท้าทายที่มีความลาดชันสูงที่สุด ซึ่งเชื่อว่าเป็นจุดศักดิ์สิทธิ์ที่มีบารมีด้านโชคลาภและความเพียร
.
นอกจากนี้ยังมี “ผามิตรไมตรี” และ “ผาทรนง” จุดชมวิวบนหน้าผาสูง “รังหมูป่า” ที่พักของลูกหมูป่า “หินพญาแข้” กลุ่มหินรูปทรงคล้ายจระเข้ “ป่านาคาจำศีล” จุดพักแรมท่ามกลางป่าเฟิร์น “ผาเกิ้ง” พื้นที่โล่งริมหน้าผาที่มีป่าเพ็ก “เฟิร์นนาคราช” ลานหินที่มีต้นเฟิร์นนาคราชขึ้นหนาแน่น “จุดชมวิวยอป่า” ที่มองเห็นวัดชัยภูมิพิทักษ์ และ “จุดชมวิวภูแลนคา” ที่เห็นทัศนียภาพของสองอำเภอและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว
.
เส้นทางสิ้นสุดที่ “หางพญานาคนาโค” หรือผากล้วยไม้ หน้าผาสูงที่มีกล้วยไม้ป่าและหินรูปร่างแปลกตา โดยเฉพาะหินที่มีลักษณะคล้ายหางพญานาค ซึ่งตามความเชื่อจะช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย นำความเป็นสิริมงคล และปกปักรักษาผืนป่าภูแลนคา
“เส้นทางศึกษาธรรมชาติสันพญานาคแห่งนี้ นอกจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อและความศรัทธาของชาวอีสานที่มีต่อพญานาค ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์และการปกปักรักษา เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ของจังหวัดชัยภูมิ” นายอรรถพล กล่าว
.
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจเดินป่าในเส้นทางดังกล่าว ควรเตรียมร่างกายและอุปกรณ์ให้พร้อม และต้องแจ้งเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ก่อนออกเดินทางทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยในการท่องเที่ยว สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่อุทยานแห่งชาติภูแลนคา จังหวัดชัยภูมิ