(21 ก.พ.67) นายวีระ ขุนไชยรักษ์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวในการแถลงข่าวกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ ห้องแถลงข่าว 101 ชั้น 1 อาคารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่า เนื่องจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น “วันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่า” ทุกปี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะรณรงค์ให้ประชาชนและเกษตรกร งดการจุดไฟเผาป่า สร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักให้แก่ประชาชน นักเรียน นักศึกษา หน่วยราชการ องค์กรเอกชน ถึงอันตรายและผลกระทบของควันที่เกิดจากไฟป่า และเพื่อป้องกันและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ จากการจุดไฟเผาป่า โดยปี 2567 นี้ กำหนดจัดกิจกรรม “วันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่า 24 ก.พ.” ตามแนวทางการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ประจำปี 2567 ที่ตั้งเป้าลดพื้นที่เผาไหม้ให้ได้ 50% ของพื้นที่เผาไหม้ปี 2566
สำหรับวันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่าในปีนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีนโยบายให้ ทุกหน่วยงานในสังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1-16 และสาขา ลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับราษฎรกลุ่มเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้าใจถึงสาเหตุและอันตรายจากไฟป่าอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความร่วมมืออันนำมาสู่การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันอย่างยั่งยืน และจัดกิจกรรมร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนและทุกภาคส่วนในรูปแบบที่เรียบง่าย ซึ่งทำกันมาอย่างต่อเนื่อง เช่น เคาะประตูบ้าน ทำแนวกันไฟ จัดการเชื้อเพลิง เป็นต้น โดยมุ่งเน้นสร้างการมีส่วนร่วมกับเครือข่ายแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันและราษฎรในชุมชน ทำการจัดเก็บเชื้อเพลิงในป่าในพื้นที่รับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งจะต้องไม่กระทบกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ไฟป่า เครือข่ายอาสาที่ยังคงปฏิบัติงานด้านไฟป่ากันอย่างเข้มข้นเพื่อป้องกันไฟป่าอยู่ในขณะนี้
ทั้งนี้แนวทางและมาตรการป้องกันไฟป่า เพื่อลดฝุ่นควัน PM 2.5 ปี 2567 รัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อปัญหาการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองโดยกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ แต่งตั้ง “คณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน” เพื่อเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 โดยมี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน และได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการอำนวยการเพื่อการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ ศูนย์ปฏิบัติระดับจังหวัดเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษ ทางอากาศ โดยจะมุ่งเป้าการเตรียมความพร้อมการควบคุมพื้นที่เสี่ยงต่อการเผา 11 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวนแห่งชาติ ที่มีพื้นที่เผาไหม้สูงสุด โดยเฉพาะพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ทั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตั้งเป้า ลดพื้นที่เผาไหม้ให้ได้ 50% ของพื้นที่เผาไหม้ปี 2566 ที่เกิดขึ้น จำนวน 12.78 ล้านไร่ โดยให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า ปี 2567 ดังนี้ 1.จัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่เสี่ยงในห้วงเวลาที่เหมาะสม 2.ตรึงพื้นที่กำหนดจุดเฝ้าระวัง โดย อส.ได้สำรวจพื้นที่ที่จะตั้งจุดตรวจ/จุดสกัด และจุดเฝ้าระวังไฟป่า ทั้งประเทศรวมจำนวน 3,893 จุด แบ่งเป็น จุดตรวจ/จุดสกัด ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ จำนวน 1,311 จุด และจุดเฝ้าระวังไฟป่า ที่จัดจ้างราษฎรเฝ้าระวังพื้นที่ จำนวน 2,582 จุด 3.จัดตั้ง War Room ทุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ณ ปัจจุบัน ได้จัดตั้งศูนย์สั่งการและติดตามสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน (War Room) ครบทุกสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ (สบอ.) และทุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์แล้ว จำนวน 400 แห่ง 4.จัดเตรียมกำลังพลเพื่อดับไฟป่า โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ 5.เฝ้าระวังควบคุมพื้นที่ตลอดห้วงไฟป่าภายใต้หลักการ “เห็นไว เข้าถึงไว ควบคุมและดับได้ไว” 6.กำหนดแผนการบริหารจัดการเมื่อเกิดเหตุการณ์ 7. จัดระเบียบ การเผาพื้นที่เกษตรกรรมในเขตป่า 8.จัดระเบียบการเข้าออกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 9.ควบคุมการเก็บหาของป่าโดยอนุญาตเฉพาะคนในพื้นที่เท่านั้น และ 10.รณรงค์ประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจเกาะติดราษฎรกลุ่มเผาป่าในรูปแบบ “เคาะประตูบ้าน”