วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 14.00 น. นายสิทธิชัย เสรีส่งแสง รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมด้วย นายนฤพนธ์ ทิพย์มณฑา ผู้อำนวยการสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า นายอิศเรศ สิทธิโรจนกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 พร้อมด้วยหัวหน้าหน่วยงานในพื้นที่ ร่วมให้การต้อนรับ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในโอกาสลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง บริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ – ปุย เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนการป้องกันและควบคุมไฟป่า และตรวจความเรียบร้อยการสร้างแนวกันไฟ เส้นดอยปุย – บ้านขุนช่างเคี่ยน และเส้นรอบพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ พร้อมมอบอุปกรณ์ป้องกันไฟป่า ข้าวสารอาหารแห้งให้กับชาวบ้านขุนช่างเคี่ยนในช่วงร่วมกันเฝ้าระวังป้องกันไฟป่าในพื้นที่ ณ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ – ปุย จ.เชียงใหม่
นายจตุพร กล่าวว่า พื้นที่ภาคเหนือเป็นพื้นที่สำคัญที่ต้องมีการเฝ้าระวังในช่วงนี้ และจากที่ผ่านมายังไม่พบรายงานจุดความร้อน (Hot spot) เกิดขึ้นในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้เกิดจากสภาพภูมิประเทศและสภาพอากาศเป็นสำคัญ ทำให้อากาศไม่เคลื่อนตัว ประกอบกับจุดความร้อนในประเทศเพื่อนบ้านที่มีมาก และจากการเผาในที่โล่ง จึงได้ทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทยขอความร่วมมือในการกำชับกวดขันลดการเผาในที่โล่งไปแล้ว สำหรับการจัดทำแนวกันไฟในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ – ปุย ปีนี้ได้รับงบประมาณในการจัดทำแนวกันไฟทั้งหมด 200 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ 8 ตำบล ซึ่งปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 7 เส้นแนว ระยะทาง 50 กิโลเมตร ยังเหลืออยู่ระหว่างกำลังดำเนินการอีก ระยะทาง 150 กิโลเมตร ที่จะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว จึงได้ประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ขอให้จัดตั้งชุดตรวจติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์ของการทำงาน โดยให้ภาคประชาชนและท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้การดำเนินงานเกิดความโปร่งใสและสามารถตอบคำถามของสังคมได้ต่อไป
นอกจากนี้ ในปีนี้ ยังได้กำชับให้บูรณาการการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองให้ครอบคลุมทุกมิติ และเข้มข้นมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด เพิ่มการขยายผลการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร ทั้งการ ชิงเก็บ ลดเผา และการใช้ระบบบริหารการเผาในที่โล่ง เพื่อควบคุมการเกิดไฟในพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตร โดยมุ่งเน้นการนำเชื้อเพลิงมาใช้ประโยชน์ สร้างมูลค่าและรายได้ให้กับชุมชน ทั้งยังเพื่อเตรียมการรองรับการปรับเปลี่ยนค่ามาตรฐานฝุ่นละออง PM 2.5 ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง จากเดิมไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เหลือ 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ อีกด้วย