วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 นายสิทธิชัย เสรีส่งแสง รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมด้วยนางสุนีย์ ศักดิ์เสือ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกอาเซียนจำนวน 7 แห่ง เข้าร่วมการประชุมอุทยานมรดกแห่งอาเซียน ครั้งที่ 7 จัดโดยศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (ASEAN Centre for Biodiversity: ACB) ในฐานะสำนักงานเลขาธิการอุทยานมรดกแห่งอาเซียน ซึ่งมีคณะกรรมการอุทยานมรดกแห่งอาเซียน จำนวน 10 ประเทศ และหัวหน้าหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่จากพื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียน ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียและหน่วยงานองค์กรด้านความหลากหลายที่ชีวภาพที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2565 – 3 พฤศจิกายน 2565 ณ เมืองโบกอร์ ประเทศอินโดนีเซีย
นายสิทธิชัย เสรีส่งแสง รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่าการเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ เป็นการประชุมคณะกรรมการอุทยานมรดกแห่งอาเซียนครั้งที่ 7 เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ เพื่อยกระดับสู่มาตรฐานสากล ในส่วนของประเทศไทยการเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ จะเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์พื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียนของประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มมากขึ้น ว่าเรามีพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ และมีลักษณะโดดเด่นอันเป็นสากล อีกทั้งยังมีความสวยงาม และมีการบริหารจัดการพื้นที่ที่ดี ทั้งยังเป็นการส่งเสริมความรู้ และเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่อุทยานมรดกอาเซียนให้มีมุมมองใหม่ในการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ในระดับอาเซียน และเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ในด้านการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติร่วมกันของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน และสร้างเครือข่ายอุทยานมรดกแห่งอาเซียนอันจะนำไปสู่ความร่วมมือต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป
ทั้งนี้ พื้นที่อนุรักษ์ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกอาเซียนนั้น จะเกิดประโยชน์ในมิติต่าง ๆ ที่หลากหลาย ดังนี้ 1) ด้านเศรษฐกิจ การมีคนรู้จักพื้นที่เพิ่มมากขึ้นจะส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรอบพื้นที่ สร้างรายได้ให้แก่คนในพื้นที่เพิ่มขึ้น 2) ด้านการมีส่วนร่วม เมื่อประชาชนโดยรอบพื้นที่เห็นคุณค่าคสามสำคัญของพื้นที่ ส่งผลให้ทุกภาคส่วนอยากเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น 3) ด้านสิ่งแวดล้อม พื้นที่ได้รับการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ เกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวทางนิเวศวิทยา ซึ่งเป็นรูปแบบของการจัดการพื้นที่คุ้มครองที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น การกระตุ้นการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าจะมีเพิ่มขึ้น 4) การเสริมสร้างพันธมิตร โปรแกรมอุทยานมรดกแห่งอาเซียนจะเป็นการสร้างเครือข่ายภาคี ทั้งในระดับประเทศและระดับอาเซียน 5) การพัฒนาศักยภาพ โดยพื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียน บุคลากร พันธมิตร รวมทั้งผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ จะได้รับการสนับสนุนในการเสริมสร้างศักยภาพ เช่น การเข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติในเวทีระดับอาเซียน 6) มีโอกาสได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโปรแกรมอุทยานมรดกแห่งอาเซียน
ทั้งนี้ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ยังได้กล่าวทิ้งท้ายถึงความสำคัญของการมีส่วนของของประชาชนที่เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน ต่อการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการอนุรักษ์แหล่งมรดกอาเซียนของประเทศไทยให้คงคุณค่าความสำคัญ เพื่อเป็นแหล่งอำนวยประโยชน์ให้กับประเทศชาติ และประชาชนได้อย่างยั่งยืนตลอดไป
สำหรับพื้นที่อนุรักษ์ของประเทศไทยที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกอาเซียน จำนวน 7 แห่ง ประกอยด้วย 1.อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้รับการประกาศเมื่อปี พ.ศ. 2527 (ลำดับที่ 10) 2.อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ได้รับการประกาศเมื่อปี พ.ศ. 2527 (ลำดับที่ 11) 3.อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา – อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ – อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ได้รับการประกาศเมื่อปีพ.ศ. 2546 (ลำดับที่ 22) 4.กลุ่มป่าแก่งกระจาน (อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี) ได้รับการประกาศเมื่อปี พ.ศ. 2546 (ลำดับที่ 23) 5.อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม – เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ได้รับการประกาศเมื่อปี พ.ศ. 2562 (ลำดับที่ 45) 6.อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ได้รับการประกาศเมื่อปี พ.ศ. 2562 (ลำดับที่ 46) และ 7.อุทยานแห่งชาติเขาสก ได้รับการประกาศเมื่อปี พ.ศ. 2564 (ลำดับที่ 50)