วันที่ 9 กันยายน 2565 นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตวป่า และพันธุ์พืช พร้อมด้วย นายสิทธิชัย เสริส่งแสง นายนรินทร์ ประทวนชัย นางรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีฯ และคณะผู้บริหารในสังกัด เข้าร่วมการประชุมรับมอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงาน ให้กับผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยมี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน พร้อมด้วย นายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์ เลขานุการรัฐมนตรีฯ นายยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงฯ และผู้บริหารของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วม ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
โดย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังได้เป็นประธานสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการโอน ภารกิจ หน่วยงาน พื้นที่และทรัพยากรการบริหาร ระหว่างกรมป่าไม้ กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยมี นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ พร้อมด้วยนายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งเป็นการลงนามในการดำเนินการระหว่างสองหน่วยงานให้ถูกต้องตามภารกิจและอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สั่งการให้กรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกันดำเนินการตรวจสอบ และพิจารณาในการดำเนินการ โดยให้
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการโอนพื้นที่และหน่วยงาน อัตรากำลังให้กับกรมป่าไม้ อาทิ สถาบันประชารัฐพิทักษ์ป่า จังหวัดแพร่ อาคารหอพรรณไม้ และหน่วยงานของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่อยู่นอกเขตป่าอนุรักษ์ เช่น ฐานปฏิบัติการป้องกันรักษาป่า หน่วยป้องกันรักษาป่า โครงการพระราชดำริ หน่วยควบคุมไฟป่า หน่วยจัดการต้นน้ำ ฯลฯ ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2565
สำหรับการส่งมอบดังกล่าว กรมป่าไม้วางแผนที่จะนำอาคารสถานที่ดังกล่าวที่ได้รับมอบ อย่างเช่นสถาบันประชารัฐพิทักษ์ป่า จังหวัดแพร่ ในอนาคตจะได้นำมาใช้เป็นสถาบันพัฒนาบุคลากร ให้กับเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ และเครือข่ายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมให้ความรู้ นอกจากนี้อาคารบางส่วนที่มีอายุกว่า 117 ปี ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 3 หลัง กรมป่าไม้ได้ขอให้กรมศิลปากรเข้ามาช่วยในการดำเนินการบูรณะซ่อมแซมและจะขอขึ้นทะเบียนให้เป็นโบราณสถาน และใช้เป็นพิพิธภัณฑ์การป่าไม้ที่รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติการทำไม้ในจังหวัดแพร่ นอกจากนี้หน่วยงานที่อยู่นอกเขตป่าอนุรักษ์รวมถึงอัตรากำลัง กรมป่าไม้ได้วางแผนให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่เดิมได้ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ เพื่อเป็นการเสริมศักยภาพในการป้องกันรักษาป่าในพื้นที่ยิ่งขึ้น