• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรมอุทยานฯ เตรียมจัดงานวัน จนท.พิทักษ์ป่าโลก 65 เผยผลลาดตระเวนพบปัจจัยคุกคามลดต่อเนื่อง

วันที่ 27 กรกฎาคม 2565 นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ด้วยในวันที่ 31 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโลก เพื่อเป็นการสดุดีและรำลึกเจ้าหน้าที่
พิทักษ์ป่าที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต จากการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเพื่อสนับสนุนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าผู้เป็นแนวหน้าในการคุ้มครอง ปกป้องรักษาพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในฐานะเป็นหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของประเทศไทย ได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้องกำหนดจัดงานวันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโลก (World Ranger Day) ประจำปี 2565 ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2565 ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครนายก เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณงามความดี สดุดีเชิดชูเกียรติ ตระหนักถึงความสำคัญของการทำหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่า เป็นการสร้างขวัญกำลังใจ และเป็นความภาคภูมิใจในการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า

โดย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน และทำพิธีวางพวงมาลาระลึกถึงเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่เสียชีวิตในขณะปฏิบัติหน้าที่ การกล่าวรายงานความสำคัญของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) การกล่าวคำปฏิญาณตนที่จะรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่า และมอบสิ่งของเครื่องดำรงชีพจำเป็นให้แก่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะร่วมเดินลาดตระเวนป่าเคียงบ่าเคียงไหล่กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในการลาดตระเวน แบบ SMART Patrol เป็นเวลา 2 วัน1 คืน ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อีกด้วย

ทั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีหน้าที่ดูแลพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จำนวน 213 แห่งทั่วประเทศ
รวมพื้นที่กว่า 67 ล้านไร่ ซึ่งเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าถือเป็นบุคลากรที่สำคัญในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ โดยที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาศักยภาพในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของประเทศอย่าง
เต็มกำลัง โดยเฉพาะการใช้ระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (SMART Patrol) ซึ่งผลจากการใช้ระบบดังกล่าวอย่างเข้มข้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ถึงปัจจุบัน พบว่าการลาดตระเวนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์เป็นระบบและต่อเนื่องมากขึ้น มีฐานข้อมูลลาดตระเวนที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ มีข้อมูลการทำลายทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ข้อมูลการพบสัตว์ป่า และข้อมูลด้านนิเวศ ซึ่งผลงานที่สำคัญพบว่าพื้นที่อนุรักษ์เป้าหมายมีการพบปัจจัยคุกคามต่อระยะทางลาดตระเวน 1,000 กิโลเมตร ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2562 – 2564

อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ. 2565 มีเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าเสียชีวิตจำนวน 19 ราย บาดเจ็บสาหัส 4 ราย
บาดเจ็บจากการปะทะ 2 ราย และบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ 11 ราย ซึ่งได้มีกองทุนสวัสดิการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดูแลเจ้าหน้าที่ผู้บาดเจ็บ และครอบครัวของผู้เสียชีวิตมาเป็นอย่างดีตลอด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด