วันที่ 17 มิถุนายน 2565 นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมด้วยนายสิทธิชัย เสรีส่งแสง รองอธิบดีฯ ร่วมลงพื้นที่ประชุมติดตามโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย พล.ร.อ.พิเชฐ ตานะเศรษฐ ประธานอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประธาน นายพุทธพจน์ คูประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 นายรวมศิลป์ มานะจงประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดจันทบุรี คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น จังหวัดจันทบุรี
โดยกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้เสนอให้ศึกษาทางเลือกให้กรมชลประทานขยับแนวสันเขื่อนลงมาและให้ระดับน้ำสูงสุดติดขอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น ลดปริมาณการกักเก็บน้ำของอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ร่วมกับการพัฒนาแหล่งอื่นๆ เช่น อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก หรือแหล่งน้ำใต้ดิน โดยการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนให้ได้ปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอตามความต้องการ ยกระดับความสูงสันเขื่อนหรือเพิ่มระดับกักเก็บน้ำของอ่างเก็บน้ำบริเวณใกล้เคียง เช่น อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ อ่างเก็บน้ำคลองประแกด ร่วมกับการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนและสัตว์ป่าได้รับประโยชน์อย่างยั่งยืน
สำหรับ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด เป็นโครงการที่เพิ่มพื้นที่ระบบชลประทานเพื่อสนับสนุนภาคเกษตรที่ได้รับประโยชน์ครอบคลุม 3 อำเภอ คือ อ.ท่าใหม่ อ.นายายอาม และ อ.แก่งหางแมว เนื่องจากจะสร้างประโยชน์ต่อการใช้น้ำให้กับทุกภาคส่วน ทั้งด้านการเกษตร ที่นา สวนผลไม้ ที่ครอบคลุมในพื้นที่การเกษตร 87,700 ไร่ ใน 3 อำเภอ คือ อ.ท่าใหม่ อ.นายายอาม และ อ.แก่งหางแมว เพื่อให้ภาคการเกษตรสามารถกักเก็บน้ำได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการใช้ และลดผลกระทบความเสียหายจากอุทกภัยและภัยแล้ง ในพื้นที่เกษตร ที่อาจจะสร้างความเสียหายให้กับประชาชน และภาคเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขอใช้พื้นที่จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้
ทั้งนี้ ปกท.ทส. กล่าวว่าในการดำเนินการดังกล่าวต้องดำเนินการแก้ปัญหาทุกมิติ ซึ่งทุกหน่วยงานต้องบูรณาการร่วมมือกัน พร้อมทั้งเน้นย้ำการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด นั้น “น้ำได้ ป่าอยู่ ช้างอยู่” ซึ่งนอกจากจะได้น้ำให้พี่น้องประชาชนได้ใช้ประโยชน์แล้ว การอนุรักษ์พื้นที่ป่าก็ต้องมีอยู่ รวมถึงประชากรสัตว์ป่าในพื้นที่โดยเฉพาะช้างป่าก็ต้องอาศัยอยู่ได้เช่นกัน