วันที่ 19 พฤษภาคม 2565 นายวีระยุทธ เกษสกุล หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าพันท้ายนรสิงห์ เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าพันท้ายนรสิงห์ ร่วมกับสัตวแพทย์สำนักบริหารพื้นที่ 3 (บ้านโป่ง) ดำเนินการควบคุมประชากรลิง ในพื้นที่วังปลาหมู ตำบลหนองหญ้า อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี โดยดำเนินการปิดดักจับ จุดที่ 3 สามารถจับลิงได้ จำนวน 26 ตัว ยอดจับลิงสะสม จำนวน 147 ตัว และทำหมันควบคุมประชากรลิงได้ จำนวน 73 ตัว
การทำหมันลิง เริ่มจากวางยาสลบโดยทีมสัตวแพทย์ โดยเลือกใช้ยาสลบและวิธีการให้ยาสลบที่มีความเหมาะสม เช่น การฉีดยาสลบด้วยมือ (Hand syringe) มักใช้ในลิงที่ดักจับมาแล้ว และการฉีดยาสลบด้วยลูกดอก (Darting มักใช้ในลิงที่ไม่สามารถดักจับได้ด้วยกรงดักจับ การเตรียมการก่อนทำหมัน ต้องมีการชั่งน้ำหนักและตรวจสุขภาพทั่วไป การเก็บตัวอย่างเพื่อนำไปตรวจโรคที่สำคัญระหว่างลิงกับคน การทำเครื่องหมายประจำตัวลิง และลิงเพศเมียควรตรวจสอบการตั้งท้องด้วยเครื่องมืออัลตร้าชาวด์หรือการคลำตรวจก่อนเตรียมผ่าตัด ทำหมัน รวมทั้งตรวจอาหารที่ตกค้างในถุงข้างแก้มและในช่องปากต้องนำออกให้หมด พิจารณาให้ยาปฏิชีวนะ ยาลดปวด/ลดอักเสบ ยาบำรุง ยาถ่ายพยาธิ และสารน้ำที่เหมาะสมกับตัวลิง
ส่วนการพักฟื้นลิง/ตรวจสภาพแผลก่อนปล่อยกลับคืนสู่ถิ่นอาศัยเดิม ลิงที่ผ่านการทำหมันจัดให้นอนพักฟื้นในท่าตะแคงและยืดคอเพื่อเปิดท่อทางเดินหายใจ และพักฟื้นจนกว่าจะฟื้นจากยาสลบเต็มที่แล้วจึงจะปล่อยกลับคืนฝูงได้ ทั้งนี้เงื่อนไขระยะเวลาตั้งแต่ดักจับลิง จนถึงปล่อยกลับคืนฝูง ไม่ควรเกิน 24 ชั่วโมงในเพศผู้ และไม่ควรเกิน 48 ชั่วโมงในเพศเมียเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบกับการจัดลำดับในสังคมฝูง และตรวจสอบสภาพแผลก่อนปล่อยกลับคืนถิ่นอาศัยเดิม