• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

สบอ.3 (บ้านโป่ง) ทดลองปลูกหญ้าเนเปียร์ในพื้นที่ยึดคืน 592 ไร่ เขตอุทยานฯลำคลองงู

วันนี้ 23 กันยายน 2564 นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) เปิดเผยว่า ตามข้อสั่งการ ของนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ดำเนินการปราบปรามนายทุนผู้บุกรุกป่า อย่างเด็ดขาด และให้นำพื้นที่ของนายทุนที่ยึดคืนมาได้ มาฟื้นฟูสภาพป่า หรือสร้างเป็นแหล่งน้ำ แหล่งอาหารสัตว์ป่า ต่อไป

ทั้งนี้ นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) นางคณิสรา เชฐบัณฑิตย์ ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ นาย กมลาศ อิสสอาด หัวหน้าอุทยานแห่งชาติลำคลองงู นายเจริญ ใจชน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ นายศรัณย์วุฒิ พรสรายุทธ หัวหน้าหน่วยป้องกันฯ ที่ กจ.6 (พุเตย) และหน่วยฯ กจ. 18 (วังเกียง) และนายสถาพร ทองผาภูมิปฐวี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ตำบลชะแล พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติลำคลองงู และเจ้าหน้าที่สปป.1 (ภาคกลาง) รวมจำนวน 30 นาย ได้ร่วมกันเปิดป้ายสัญลักษณ์ที่สร้างเป็นปูนอย่างถาวรที่ชื่อว่า “ศูนย์ศึกษาธรรมชาติ และสัตว์ป่า ตำบลชะแล” ในเขตอุทยานแห่งชาติลำคลองงู บ้านคลิตี้ หมู่ที่ 4 ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ที่ได้ยึดคืนมาจากทายาทนายทุน เมื่อกลางเดือน มิ.ย.64 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงว่า พื้นที่ดังกล่าวจำนวน 592 ไร่ 2 งาน 58 ตารางวานั้น ไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของทายาทนายทุนแล้ว แต่ตกมาเป็นสมบัติของแผ่นดิน ของคนไทยทุกๆคน และได้ร่วมกันปลูกพืชอาหารสัตว์ป่า โดยใช้หญ้าเนเปียร์ ซึ่งสามารถเติบโตได้เร็ว มีคุณค่าทางอาหารสูง สัตว์ป่ากินได้ตลอดปี โดยหญ้าเนเปียร์ มีอายุยาวนาน 5-7 ปี ในแปลงทดลอง ในพื้นที่ดังกล่าว จำนวน 10 ไร่ โดยกิ่งพันธุ์หญ้าเนเปียร์ที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติลำคลองงูได้นำมาปลูกนั้น ได้รับการสนับสนุนมาจากหมอหนุ่ย นายสุรพงศ์ ปิยะโชติ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี

นอกจากนี้ ได้ร่วมกันติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าอัตโนมัติ ในบริเวณดังกล่าว เพื่อทดลองจับภาพสัตว์ป่าดูว่า บริเวณดังกล่าว จะมีสัตว์ป่าชนิดใด ออกมาหากินในบริเวณดังกล่าว มากน้อยเพียงใด เพื่อนำมาวางแผนการสร้างแหล่งน้ำ แหล่งอาหารสัตว์ป่า สร้างระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์ในอนาคต และพัฒนาให้บริเวณดังกล่าวเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในท้องถิ่นต่อไป นายนิพนธ์ฯ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด