• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรมอุทยานฯ สำรวจ ‘นกแก้วโม่ง’ ฝูงสุดท้ายวัดสวนใหญ่ นนทบุรี ร่วมหาแนวทางอนุรักษ์

วันที่ 7 สิงหาคม 2564 นายนาวี ช้างภิรมย์ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ กล่าวว่า ตามที่ได้มีการแชร์ เกี่ยวกับ “นกแก้วโม่ง” ฝูงสุดท้ายบริเวณวัดสวนใหญ่ ตำบลบางกรวย อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ที่อาศัยอยู่ร่วมกันเป็นฝูงที่ยอดยางอายุกว่า 200 ปี ริมคลองบางกรวย ในวัดสวนใหญ่ นั้น นายสมปอง ทองสีเข้ม ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าได้มอบหมายให้นายธานี วงศ์นาค ผู้อำนวยการส่วนคุ้มครองสัตว์ป่า พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ ชุดปฏิบัติการพิเศษ 1362 สำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า และชุดเหยี่ยวดง เข้าตรวจสอบการอยู่อาศัยของนกแก้วโม่งดังกล่าว เมื่อเจ้าหน้าที่เดินทางมาถึงวัดสวนใหญ่ ได้พบกับบุคคล 3 ท่าน ทราบชื่อภายหลัง คือ พระอธิการทองศูนย์ขันติพโล (อายุ 50 ปี) เจ้าอาวาสวัดสวนใหญ่ นายวินัย พุ่มอยู่ (อายุ 66 ปี ) จิตอาสาชุมชนวัดสวนใหญ่ และนายชัยวัฒน์ มนตรีชัยวิวัฒน์ (อายุ 45 ปี) อาสาสมัครพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

นายวินัย พุ่มอยู่ เปิดเผยว่า ตนได้ร่วมทำเพจนกแก้วโม่ง ร่วมกับนายชัยวัฒน์ มนตรีชัยวิวัฒน์ และนายพรหมราช นารถมุนี ซึ่งทำเกี่ยวกับการท่องเที่ยวชุมชนและเป็นแอดมินเพจ “ชวนเที่ยวบางกรวย” เพื่อใช้ในการอนุรักษ์นกแก้วโม่งของวัดสวนใหญ่และเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวข้างต้นจริง จุดประสงค์เพื่อให้เจ้าหน้าที่และประชาชนเข้ามาร่วมกันอนุรักษ์นกแก้วโม่งของวัดสวนใหญ่ เดิมที่วัดสวนใหญ่จะมีนกแก้วโม่งมาอาศัยอยู่ประมาณ 100 กว่าตัว บนต้นยางนา จำนวน 2 ต้น แต่ปัจจุบันอาศัยอยู่ประจำประมาณ 20 ถึง 30 ตัว เนื่องจากพื้นที่บริเวณวัดเป็นแหล่งอาหารของนกแก้วโม่ง แต่ในปัจจุบันเปลี่ยนรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นหมู่บ้านจัดสรร และต้นไม้ใหญ่ที่เป็นแหล่งพักอาศัยของนกแก้วโม่งได้สูญหายไป ทำให้นกแก้วโม่งบางส่วนอพยพกระจายไปอยู่ที่อื่นทั่วจังหวัดนนทบุรี

วัดสวนใหญ่ มีโพรงธรรมชาติที่ใช้ทำรังของนกแก้วโม่งบนต้นยาง ประมาณ 12 โพรง ซึ่งใช้ในการวางไข่ และตอนเย็น ๆ นกแก้วโม่งจะมารวมฝูงกันที่วัดสวนใหญ่เวลาประมาณ 16.00 – 18.00 น. ปกตินกแก้วโม่งที่วัดนี้จะออกลูกปีละประมาณ 1 – 2 ตัว ซึ่งนกแก้วโม่งจะมีนิสัยชอบออกหากินไกลจากที่พักอาศัย โดยแบ่งกระจายกันออกไปทั่วจังหวัดนนทบุรี และพอตกเย็นจึงกลับมายังที่พักอาศัยของตนเอง ซึ่งมีหลายที่ในจังหวัดนนทบุรีอาหารของนกแก้วโม่งคือลูกไม้ ผลไม้และเมล็ดข้าว ปัจจุบันนายพรหมราช นารถมุนี ได้พัฒนาให้วัดสวนใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในการมาศึกษาการดำรงชีวิตของนกแก้วโม่ง ซึ่งเป็นนกหายาก ที่เกือบอยู่ในข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

เจ้าหน้าที่ฯ ได้ร่วมหารือถึงแนวทางในการอนุรักษ์ดูแลนกแก้วโม่ง กับนายชัยวัฒน์ มนตรีชัยวิวัฒน์ และนายวินัย พุ่มอยู่ โดยให้อนุรักษ์ต้นยางทั้ง 2 ต้น ที่เป็นแหล่งวางไข่ ของนกแก้วโม่ง ซึ่งในเบื้องต้นได้มีเจ้าหน้าที่รุกขกรของกรมป่าไม้ เข้ามาสำรวจเพื่อดูแลรักษาต้นยางนาที่เป็นแหล่งอาศัยสืบพันธุ์ของนกแก้วโม่งฝูงแล้ว แต่เนื่องจากติดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จึงยังไม่ได้ดำเนินการ และให้ทางผู้ดูแลจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ถึงการห้ามล่า ห้ามค้า และห้ามครอบครอง นกแก้วโม่ง เนื่องจากเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง บริเวณวัดสวนใหญ่ จำนวน 2 ป้าย เพื่อให้ประชาชนร่วมกันอนุรักษ์ นกแก้วโม่ง

ในส่วนของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ จะช่วยประชาสัมพันธ์ในการอนุรักษ์นกแก้วโม่งบริเวณวัดสวนใหญ่ ให้ประชาชนได้ทราบ และถ้าหากพบเห็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับสัตว์ป่า ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ให้แจ้งทางสายด่วนพิทักษ์ป่า 1362 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หรือทางเพจสายด่วน 1362 และทางเพจเหยี่ยวดง และจะร่วมประสานกับกลุ่มอนุรักษ์ในพื้นที่ชุมชนวัดสวนใหญ่ เพื่อช่วยกันดูแลและอนุรักษ์นกแก้วโม่งต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด