• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

‘เต่าแม่เพรียง’ ขึ้นวางไข่ครั้งที่ 2 บนอ่าวเทียน พื้นที่อุทยานฯอ่าวสยาม 176 ฟอง

วันที่ 23 กรกฎาคม 2564 นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2564 เวลาประมาณ 20.00 น. เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม ร่วมกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากร ทะเลสยาม ลาดตระเวนการขึ้นวางไข่ของเต่ากระในพื้นที่เกาะทะลุ อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ อย่างต่อเนื่อง

โดยขณะลาดตระเวน พบเต่าทะเล “แม่เพรียง” ขึ้นวางไข่ เป็นครั้งที่ 2 บริเวณอ่าวเทียน ซึ่งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม จากการตรวจสอบเบื้องต้น ไม่พบร่องรอยบาดแผลที่เกิดจากเครื่องมือการทำประมงแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่จึงทำการขุดหลุมรังไข่ ทำการย้ายรังไปไว้ในที่ซึ่งปลอดภัยจากสัตว์ที่จะเข้ามากินไข่เต่าและน้ำทะเลที่อาจท่วมถึงในช่วงเวลาน้ำทะเลขึ้นสูง โดยนับเป็นรังที่ 16 มีจำนวนไข่ทั้งหมด 176 ฟอง วัดลำตัวของแม่เต่า ยาว 83 เซนติเมตร กว้าง 76 เซนติเมตร วัดความกว้างของพาย 75 เซนติเมตร ขนาดหลุมวางไข่ ความกว้าง 26 เซนติเมตร ความลึก 45 เซนติเมตร ทั้งนี้ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและเก็บข้อมูลตลอด 24 ชั่วโมง

“เต่ากระ” ชื่อวิทยาศาสตร์ Eretmochelys imbricata (Linnaeus, 1766) เป็นสัตว์ทะเลหายาก สถานภาพเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พรบ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 IUCN Red List : CR (เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ) จัดอยู่ใน Appendix 1 ของอนุสัญญาไซเตส (CITES)

อย่างไรก็ตาม ในแต่ละปี จะมีเต่าทะเลที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ผสมพันธุ์ตามบริเวณต่าง ๆ ในมหาสมุทร หลังจากนั้น เต่าทะเลตัวเมียจะขึ้นหาดขุดทรายวางไข่ โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า เต่าทะเลทุกชนิดขึ้นมาวางไขาเฉพาะเวลากลางคืน ยกเว้น Kemp’s ridley เพียงชนิดเดียวที่ขึ้นมาวางไข่ตอนกลางวัน และส่วนใหญ่จะขึ้นมาวางไข่บนหาดที่ถือกำเนิด เต่าทะเลตัวเมียเมื่อขึ้นจากน้ำก็จะคลานขึ้นมาบนหาดเพื่อหาจุดที่เหมาะสมในการวางไข่ แต่ถ้าพบว่า หาดนั้นมีแสงสว่างและเสียงรบกวนจะคลานกลับลงน้ำโดยไม่วางไข่

เมื่อพบจุดที่ต้องการก็จะใช้พายคู่หลังขุดหลุม จนมีลักษณะคล้ายหม้อสองหู การขุดก็จะทำอย่างระมัดระวังโดยใช้พายข้างหนึ่งโกยทรายแล้วดีดออก เมื่อทรายที่ขุดมากขึ้นก็จะใช้พายอีกข้างช่วยโกยออก ต่อจากนั้นก็จะวางไข่ ซึ่งมีลักษณะนิ่มคลุ่ม โดยเต่าแต่ละตัวสามารถที่จะขึ้นมาวางไขได้สองหรือสามครั้ง ขณะที่วางไข่ จะสังเกตุเห็นว่ามีของเหลวไหลออกมาจากตา ทั้งนี้เพื่อรักษาระดับความชื่นและป้องกันทรายเข้าตา ไข่เต่าแต่ละฟองจะมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 ถึง 7 เซนติเมตร (1.5 – 2.5 นิ้ว) หลังจากไข่เสร็จ เรียบร้อยแล้วก็กลบหลุมและทุบทรายให้แน่น แล้วพรางหลุมโดยการกวาดทราบข้างเคียงจนสังเกตตำแหน่ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด