• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

เจ้าหน้าที่​อช.เขาใหญ่และทีมสัตวแพทย์เร่งให้การช่วยเหลือช้างป่า “พลายสาริกา” พบแผลติดเชื้อบริเวณงวง คาดเกิดจากเหตุปะทะ​กับ​ พลายยักษ์มีนา

7 เมษายน​ 2568 -​ นายยศวัฒน์ เธียรสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 เปิดเผยว่า​ เกิดเหตุระทึกในผืนป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เมื่อ “พลายสาริกา” ช้างป่าขวัญใจนักท่องเที่ยว ได้รับบาดเจ็บสาหัสที่งวง จากการต่อสู้สุดกำลังกับ “พลายยักษ์มีนา” ช้างพลายหนุ่มหน้าใหม่จากโขลงชบาแก้ว ที่คาดว่าเป็นการแย่งชิงความเป็นใหญ่ในพื้นที่

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2568 นางสาววีรยา โอชะกุล ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (ปราจีนบุรี) ได้รายงานถึงเหตุการณ์พบช้างป่าบาดเจ็บในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่​ โดยได้รับการประสานจากนายสถาพร ธีระวัฒน์ ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แจ้งว่าพบช้างป่าชื่อ “พลายสาริกา” มีอาการบาดเจ็บบริเวณงวง โดยแผลมีอาการติดเชื้อรุนแรง มีกลิ่นเหม็น และมีน้ำหนองไหลซึม ช้างป่าถูกพบบริเวณทางเข้าคลองมะเดื่อ ตำบลสาริกา อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก ทางผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานฯ จึงได้ขอการสนับสนุนสัตวแพทย์จากส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่าเพื่อเข้าดำเนินการประเมินอาการและรักษาช้างป่าตัวดังกล่าวโดยด่วน

ทันทีที่ได้รับแจ้ง ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สบอ.1 (ปราจีนบุรี) ได้ส่งทีมสัตวแพทย์เข้าตรวจสอบร่วมกับนายสถาพร ธีระวัฒน์ และเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ขญ.13 (นางรอง) ทีมสัตวแพทย์พบช้างป่าตัวดังกล่าวเวลา 17.30 น. ที่บริเวณลานกางเต็นท์เดอร์เบิร์ดแคมป์ ทางเข้าคลองมะเดื่อ ตำบลสาริกา อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก​ หลังจากประเมินอาการเบื้องต้น ทีมสัตวแพทย์ได้ให้การรักษาโดยให้ยาปฏิชีวนะในรูปแบบของอาหาร โดยซ่อนยาไว้ในกล้วยสุกและขนุนสุกให้ช้างกิน เพื่อรักษาการติดเชื้อที่บริเวณงวง วิธีนี้เป็นการรักษาที่ไม่ต้องทำให้ช้างเครียดหรือตกใจจากการฉีดยา ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อทั้งช้างและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่

จากการประเมินอาการ บาดแผลที่งวงของพลายสาริกาเชื่อว่าเกิดจากการต่อสู้กับ “พลายยักษ์มีนา” ช้างพลายหนุ่มที่มีขนาดใกล้เคียงกัน ซึ่งเพิ่งแยกตัวออกมาจากโขลงชบาแก้ว เหตุการณ์นี้สะท้อนถึงการแข่งขันตามธรรมชาติของช้างป่าในช่วงฤดูผสมพันธุ์ เพื่อแย่งชิงอาณาเขตและสถานะจ่าฝูง​ โดยบาดแผลที่งวงของช้างนั้นถือว่าอันตรายอย่างยิ่ง เนื่องจากงวงเป็นอวัยวะสำคัญในการหายใจและหาอาหาร ทางอุทยานฯ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ขญ.13 (นางรอง) ติดตามอาการของพลายสาริกาอย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมสำหรับแผนการรักษาเพิ่มเติมหากจำเป็น

ทั้งนี้ นายยศวัฒน์​ ยังได้กำชับให้อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของพลายสาริกาและพลายยักษ์มีนา เพื่อป้องกันการปะทะกันอีกในอนาคต และประชาสัมพันธ์ขอให้นักท่องเที่ยวหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ช้างป่าทั้งสองตัวในช่วงนี้ เพื่อความปลอดภัยของทุกคน
พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากประชาชนและนักท่องเที่ยว หากพบเห็นช้างป่าได้รับบาดเจ็บ หรือมีพฤติกรรมผิดปกติ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยประชาชนสามารถแจ้งเหตุฉุกเฉินเกี่ยวกับสัตว์ป่าได้ที่สายด่วนพิทักษ์ป่า 1362 หรือติดต่อหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติในพื้นที่โดยตรง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด