เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2568 นายยศวัฒน์ เธียรสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (ปราจีนบุรี) เปิดเผยว่า นางสาววีรยา โอชะกุล ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สบอ.1 (ปราจีนบุรี) ได้รับการประสานจากนายสถาพร ธีระวัฒน์ ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แจ้งว่าพบซากช้างป่าตาย 1 ตัว บริเวณหลังวัดบ้านดง หมู่ที่ 1 ตำบลสาริกา อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก จึงขอการสนับสนุนทีมสัตวแพทย์จากส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่าเข้าดำเนินการตรวจพิสูจน์ซากเพื่อหาสาเหตุการตายโดยด่วน
ทีมสัตวแพทย์จากส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สบอ.1 (ปราจีนบุรี) ได้เข้าตรวจสอบร่วมกับหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 13 (นางรอง) จิตอาสานครนายก ชุดเคลื่อนที่เร็วผลักดันช้างป่านครนายก นายก อบจ.นครนายก นายก อบต.สาริกา และผู้นำชุมชน ณ พิกัด 47P 476639 1583988 พบว่าซากช้างป่าที่ตายเป็น “เจ้าพลายงาเดียว” ช้างป่าเพศผู้อายุประมาณ 30 ปี นอนตายในลักษณะตะแคงซ้ายลงพื้น
จากการชันสูตรซากเบื้องต้น พบว่าซากมีสภาพเน่าเหม็น คาดว่าตายมาแล้วไม่น้อยกว่า 48 ชั่วโมง ไม่สามารถระบุร่องรอยการถูกทำร้ายได้เนื่องจากซากเน่าเกินไป อวัยวะภายในเน่า แต่ตรวจพบว่ามีอาหารอยู่ภายในกระเพาะอาหารและพบอุจจาระในลำไส้ เจ้าหน้าที่ได้เก็บชิ้นเนื้อและอาหารจากกระเพาะส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาสาเหตุการตายที่แน่ชัดต่อไป เจ้าหน้าที่ได้ทำการถอดงาทั้ง 2 ข้างนำไปเก็บรักษา ส่วนซากได้นำมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนาก่อนทำลายโดยการฝังกลบในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ หน่วยพิทักษ์ฯ ที่ 13 (นางรอง) เรียบร้อยแล้ว
สำหรับ “เจ้าพลายงาเดียว” ก่อนหน้านี้เคยถูกพบว่ามีบ่วงติดอยู่ที่ปลายงวง ซึ่งบ่วงดังกล่าวเป็นอันตรายร้ายแรงต่อช้างป่า เนื่องจากงวงเป็นอวัยวะสำคัญที่ช้างใช้ในการหายใจ กิน ดื่ม และสื่อสาร เมื่อถูกบ่วงรัด นอกจากจะเกิดบาดแผลและความเจ็บปวดแล้ว ยังอาจทำให้ช้างไม่สามารถกินอาหารและดื่มน้ำได้อย่างปกติ ซึ่งส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอ เกิดภาวะขาดน้ำ และอาจเกิดการติดเชื้อจากบาดแผลที่ถูกบ่วงบาด
ที่ผ่านมา ทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (ปราจีนบุรี) ได้ช่วยกันปลดบ่วงออกจากงวงของพลายงาเดียว หลังจากนั้นได้ปล่อยให้พลายงาเดียวฟื้นจากยาสลบและออกหากินตามธรรมชาติ แต่เพียงแค่ 7 คืนผ่านไป ช้างป่าตัวนี้ก็ถูกพบว่าล้มตายในจุดเดิมที่เจ้าหน้าที่เคยช่วยปลดบ่วงให้
แม้จะยังไม่สามารถระบุสาเหตุการตายที่แน่ชัดได้ แต่ทีมสัตวแพทย์คาดว่าบ่วงอาจส่งผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพของช้าง โดยเฉพาะงวงได้รับบาดเจ็บรุนแรงจนส่งผลต่อการกินอาหารและดื่มน้ำ หรืออาจเกิดการติดเชื้อจากบาดแผลที่ถูกบ่วงรัด ซึ่งอาการเหล่านี้อาจไม่แสดงออกในทันที แต่ส่งผลให้ช้างป่าอ่อนแอลงเรื่อยๆ จนเสียชีวิตในที่สุด
กรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของการวางบ่วงดักสัตว์ป่า ซึ่งเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อสัตว์ป่าหลายชนิด โดยเฉพาะช้างป่าซึ่งเป็นสัตว์คุ้มครอง นอกจากนี้การวางบ่วงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และมีบทโทษที่หนัก ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ยังคงรอผลการตรวจพิสูจน์ทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันสาเหตุการตายที่แท้จริงของเจ้าพลายงาเดียวต่อไป.