• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

อุทยานฯเขาใหญ่ ร่วมปศุสัตว์ฉีดวัคซีนวัวชาวบ้านใกล้แนวเขต คุมการระบาดลัมปี สกิน

วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 นายอดิศักดิ์ ภูสิทธิ์วงศานุยุต หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้เข้าร่วมประชุมหารือตามโครงการกระทิงปลอดโรค ปศุสัตว์ปลอดภัย  โดยมี รศ.นสพ. ปานเทพ รัตนากร คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์และสัตววิทยาประยุกต์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ นายสิทธิชัย เสรีส่งแสง ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) นายพศวีย์ สมใจ ปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา นายอรรณพ บัวนวล หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า เข้าร่วมประชุมเพื่อติดตามและวางแผนเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน ในโค กระบือ ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า ซึ่งมีสัตว์ป่าที่มีความเป็นไปได้ในการรับและส่งต่อเชื้อโรคลัมปี สกิน ได้แก่ กระทิง วัวแดง เลียงผา กวางผา และสัตว์กลุ่มกวาง โดยเฉพาะกระทิงซึ่งมีลักษณะทางพันธุกรรมใกล้เคียงกับวัวบ้าน ณ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา

นายอดิศักดิ์ฯ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กล่าวว่า การเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน เป็นไปตามข้อสั่งการของนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ได้สั่งการให้อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และหน่วยงานต่างๆซึ่งมีกระทิงอาศัยอยู่ในพื้นที่ ให้ดำเนินการดังนี้ 1.สังเกตอาการป่วย/ตายผิดปกติของวัวป่า ควายป่า และกลุ่มสัตว์กีบในพื้นที่รับผิดชอบ และให้เข้มงวดในการเฝ้าระวังและป้องกันโรคในสัตว์ป่า ติดตามสถานการณ์ของโรค สุขภาพ และการทำวัคซีนในสัตว์ปศุสัตว์โดยรอบพื้นที่ เพื่อประเมินสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยงาน โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีสัตว์กลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อให้ทำการควบคุม ป้องกันแมลงพาหะอย่างเข้มงวด รวมถึงเฝ้าระวังและสังเกตอาการของสัตว์ป่าเป็นประจำ 2.กรณีสัตว์ป่าป่วย จะมีตุ่มขนาดใหญ่ ประมาณ 2-5 เซนติเมตร ขึ้นที่ผิวหนังทั่วร่างกาย พบมากที่คอ หัว เต้านม ถุงอัณฑะ และช่วงขา ดังนั้น หากพบสัตว์ป่าที่มีอาการเดินผิดปกติ หรือพบสัตว์ป่าตาย ให้แจ้งสัตวแพทย์ที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ หรือหน่วยงานใกล้เคียงเข้าดำเนินการตรวจสอบ พร้อมเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันสาเหตุของการป่วยหรือตาย

3.กำหนดแนวเขตกันชน ห้ามไม่ให้มีการนำสัตว์เลี้ยงเข้าสู่พื้นที่ป่าอนุรักษ์ และควบคุมไม่ให้มีการใช้พื้นที่ชายขอบป่าอนุรักษ์ในการเลี้ยงสัตว์ปศุสัตว์ 4.ประชาสัมพันธ์และขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ร่วมกันเฝ้าระวังการป่วย/ตายผิดปกติของสัตว์ป่า ไม่ปล่อยสัตว์เลี้ยงเข้ามาในพื้นที่ พร้อมแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าดำเนินการต่อไป 5.กรณีที่พบการป่วย/ตายผิดปกติของสัตว์ป่ากลุ่มสัตว์กีบ และสงสัยว่าป่วยเป็นโรคลัมปี สกิน ในพื้นที่รับผิดชอบให้รายงานกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทราบโดยด่วน 6.ประสานขอความร่วมมือหน่วยงานปศุสัตว์ หรือองค์การบริหารส่วนตำบล ให้เข้ามาฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อและยากันแมลงในบริเวณแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ พื้นที่รอยต่อเขตปศุสัตว์ และพื้นที่ปศุสัตว์ของหมู่บ้าน ตลอดจนดำเนินการเชิงรุกในพื้นที่ปศุสัตว์ของราษฎรที่เป็นพื้นที่เสี่ยง เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคโดยเร็วที่สุด 7. เฝ้าระวังและติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง

สำหรับ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้ปฏิบัติงานเชิงรุกโดยหลังจากการประชุมเสร็จแล้ว ได้ลงพื้นที่หมู่บ้านบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ร่วมกับปศุสัตว์อำเภอวังน้ำเขียว ในการฉีดวัคซีนให้กับวัวของราษฎร และฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ และยากันแมลงจำพวกแมลงดูดเลือดในคอกปศุสัตว์ ทั้งนี้ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทุกหน่วย ดำเนินการสำรวจวัว กระบือ ซึ่งราษฎรเลี้ยงไว้ใกล้เคียงกับแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยเฉพาะบริเวณที่มีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน ซึ่งจะได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เพื่อป้องกันและเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น พร้อมทั้งได้ประชาสัมพันธ์ให้ราษฎรในพื้นที่ ห้ามมิให้นำสัตว์เลี้ยงดังกล่าวเข้าไปเลี้ยงในบริเวณที่ติดกับแนวเขตอุทยานแห่งชาติ โดยจะได้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด