วันที่ 19 มีนาคม 2568 เวลา 11.30 น. นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมประชุมติดตามการดำเนินงานรับมือและบริหารจัดการสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 โดยมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารระดับสูง ทส. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) ชั้น 7 อาคารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
โดยนายกรัฐมนตรีได้รับฟังรายงานการทำงานของศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) รวมถึงการบริหารจัดการสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ทั้งภาคป่าไม้ ภาคเกษตร และภาคเมือง รวมถึงปัญหาหมอกควันข้ามแดน ในส่วนของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีการเฝ้าระวังไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง โดยได้รับจัดสรรงบกลาง ปี 2568 ด้วยงบประมาณ 433,669,030 บาท ในการตั้งจุดตรวจ/สกัด/เฝ้าระวังไฟป่าในพื้นที่อนุรักษ์ รวมถึงการเน้นสร้างความเข้าใจและขอความร่วมมือประชาชนรอบป่า และบังคับใช้กฎหมายกับผู้จงใจฝ่าฝืน
สำหรับการตั้งจุดตรวจ/สกัด/เฝ้าระวังไฟป่าในพื้นที่อนุรักษ์ รวม 3,895 จุด แบ่งเป็นงบประจำ 2,582 จุด และงบกลาง 1,313 จุด ประสิทธิภาพจุดเฝ้าระวังภาพรวม Hotspot ในพื้นที่เฝ้าระวัง รัศมี 1 กิโลเมตร ปี 2568 ลดลง จากปี 2567 เท่ากับ 54.06% ทั้งนี้ จุดความร้อนสะสมพื้นที่ป่า ระหว่าง 1 ตุลาคม – 19 มีนาคม เปรียบเทียบระหว่างปี 2567 และ 2568 พบว่าปี 2567 จุดความร้อนสะสม จำนวน 45,432 จุด ปี 2568 จำนวน 32,700 จุด ลดลง 28.0% แยกเป็น พื้นที่ป่าสงวนฯ ปี 2567 จำนวน 20,680 จุด ปี 2568 จำนวน 17,811 จุด ลดลง 13.9% พื้นที่ป่าอนุรักษ์ ปี 2567 จำนวน 24,752 จุดปี 2568 จำนวน 14,889 จุด ลดลง 39.8%
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีแสดงความเป็นห่วงสถานการณ์หมอกควันไฟป่าและฝุ่นละออง PM2.5 โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือเพราะมีฝุ่นควันที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะที่ในประเทศไทยนั้น ทุกหน่วยงานร่วมกันอย่างจริงจัง ทำให้ในปีนี้มีค่าฝุ่นลดลง ถือว่าเป็นแนวโน้มที่กำลังดีขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงการทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนในเรื่องการเผาและการเกิดไฟป่า และการนำกฎหมายที่มีอยู่มาบังคับใช้อย่างจริงจัง ทำให้ค่าฝุ่นในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้ทุกหน่วยงานร่วมกันดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ปัญหาฝุ่นควันลดลงอย่างต่อเนื่องต่อไปในอนาคต.