21 กุมภาพันธ์ 2568 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานในพิธีเปิด “บ้านเขียว” หรือ อาคารศูนย์เรียนรู้การป่าไม้แห่งใหม่ ณ สวนรุกขชาติเชตวัน จังหวัดแพร่ ภายใต้ชื่องาน “ฟื้นบ้านเขียว สู่อ้อมกอดชาวแพร่” ท่ามกลางบรรยากาศและการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากชาวแพร่ โดยมีนายคุณากร คชหิรัญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวต้อนรับ และนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวรายงาน พร้อมกันนี้ มีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายนรินทร์ ประทวนชัย รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ นายกรัณย์พล แสงทอง ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) นายสมบัติ พิมพ์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานกลาง คณะผู้บริหารในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หัวหน้าหน่วยงานราชการ และประชาชนเข้าร่วมงานจำนวนมาก
ภายในงานมีการจัดกิจกรรมตลอดทั้งวันตั้งแต่ 13.00-20.00 น. เริ่มต้นด้วยกิจกรรมสำรวจธรรมชาติและเรียนรู้ประวัติศาสตร์การป่าไม้ไทย นำโดยทีมงานครูป่าไม้ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) พาผู้เข้าร่วมงานสำรวจพรรณไม้หายากและเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์การป่าไม้ในพื้นที่ล้านนา สอดแทรกด้วยการแสดงดนตรีในสวนที่สร้างสีสันตลอดงาน จากวงพรรณเพลงและวงชราแบน พร้อมด้วยกิจกรรม “กาดฮิมยม” ตลาดนัดวินเทจริมน้ำยมที่รวบรวมงานศิลปะ หัตถกรรม และผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น นอกจากนี้ ในช่วงพิธีเปิดยังได้มีการมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ 6 หน่วยงานที่ร่วมสนับสนุนการปฏิสังขรณ์บ้านเขียว ได้แก่ กรมศิลปากร สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เทศบาลเมืองแพร่ เทศบาลตำบลป่าแมต องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ และสมาคมรักษ์เมืองเก่าแพร่ สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของจังหวัดแพร่
ดร.เฉลิมชัย รมว.ทส. กล่าวว่า “บ้านเขียวไม่เพียงเป็นอาคารประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นประจักษ์พยานของยุคทองการป่าไม้ในล้านนา การบูรณะครั้งนี้ จึงมุ่งเน้นการรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมดั้งเดิม ควบคู่ไปกับการพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทันสมัย เพื่อถ่ายทอดความรู้และสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้แก่คนรุ่นหลัง”
สำหรับบ้านเขียวเป็นอาคารประวัติศาสตร์อายุกว่า 120 ปี สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2444 สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นที่ทำการป่าไม้ภาคแพร่ กรมป่าไม้สยาม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำยม ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่ มีสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล (Colonial) กับภูมิปัญญาท้องถิ่น ปรับให้เข้ากับสภาพอากาศร้อนชื้นของเมืองไทย อาคารนี้ผ่านการพัฒนามาแล้ว 5 ยุคสมัย ก่อนจะถูกรื้อถอนในปี 2563 นับเป็นหนึ่งในอาคารที่ทำการป่าไม้ยุคแรกที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในภูมิภาคล้านนา การบูรณะอาคารใช้เวลากว่า 2 ปี ดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญจากกรมศิลปากรและสมาคมสถาปนิกสยามฯ ใช้กระบวนการอนุรักษ์ที่พิถีพิถันเริ่มต้นด้วยการเก็บข้อมูลและร่องรอยของซากอาคารเดิมอย่างละเอียด รวบรวมไม้เก่าทุกชิ้นมาบันทึกข้อมูลและตำแหน่งที่พบ พร้อมทั้งสันนิษฐานว่าเป็นส่วนประกอบใดของอาคาร มีการทำหมายเลขกำกับและจัดทำแบบแปลนตามข้อสันนิษฐาน นอกจากนี้ ยังได้รวบรวมภาพถ่ายเก่าจากแหล่งต่างๆ มาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลที่ได้จากการขุดค้น จุดเด่นของฃการบูรณะคือการนำไม้เดิมทุกชิ้นกลับมาประกอบในตำแหน่งเดิม ส่วนที่เสียหายได้คัดสรรไม้ชนิดเดียวกันมาทดแทน โดยเน้นการรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิมของอาคารไว้มากที่สุด การบูรณะเสร็จสิ้นในเดือนกรกฎาคม 2567 และได้จัดให้มีเวทีประชาคมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกำหนดแนวทางการพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ สะท้อนให้เห็นถึงความใส่ใจในการรักษามรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าและการมีส่วนกับชุมชนท้องถิ่น ทั้งนี้ ศูนย์เรียนรู้การป่าไม้แห่งนี้จะเปิดให้ประชาชนเข้าชมอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นต้นไป โดยจะเป็นทั้งแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์การป่าไม้ พิพิธภัณฑ์มีชีวิตด้านสถาปัตยกรรมและสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแห่งใหม่ของจังหวัดแพร่ ที่จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืน.