นายก้องเกียรติ เต็มตำนาน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 ศรีราชา เปิดเผยว่า กรณีที่มีการโพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊กเกี่ยวกับการที่ชาวบ้านในซอยพระตำหนักเกิดความหวาดผวาจากเสียงคำรามของสิงโต เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2568 นายพิทักษ์ อินทศร ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ประกอบด้วยบุคลากรจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ เจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) เจ้าหน้าที่สายตรวจปราบปรามการกระทำความผิดกฎหมายด้านสัตว์ป่าสายที่ 2 และเจ้าหน้าที่ด่านตรวจสัตว์ป่าแหลมฉบัง ได้ร่วมกันเข้าตรวจสอบบ้านหลังหนึ่งในตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
โดยในการตรวจสอบครั้งนี้มีผู้นำตรวจสอบ 3 คน ได้แก่ นางสาวสว่างจิต (สงวนนามสกุล) นายอนิรุจน์ (สงวนนามสกุล) และ Mr. Vaikunda ซึ่งทั้งหมดได้ให้ถ้อยคำกับคณะเจ้าหน้าที่ ซึ่งการตรวจสอบครั้งนี้เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา
จากการตรวจสอบ คณะเจ้าหน้าที่พบสัตว์ป่าควบคุม ประเภท ก ชนิดสิงโต จำนวน 2 ตัว ซึ่งมีประวัติและรายละเอียดแตกต่างกัน สำหรับสิงโตเพศเมีย “ร็อกกี้” อายุประมาณ 1 ปี 8 เดือน มีการฝังไมโครชิพหมายเลข 90021000878562 โดยสิงโตตัวนี้มีสถานะเป็นสัตว์ของกลางตามบันทึกการจับกุมเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2567 ซึ่งทางการได้มอบหมายให้นายอนิรุจน์ เป็นผู้ดูแลของกลาง เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบสภาพร่างกายภายนอกและไม่พบบาดแผลใดๆ สิงโตสามารถแสดงออกทางพฤติกรรมตามธรรมชาติได้ปกติ และมีคะแนนค่าความสมบูรณ์ทางร่างกาย (Body Condition Score) ที่ 3/5
สำหรับสิงโตเพศผู้ “ไรลี่” อายุประมาณ 6 เดือน มีไมโครชิพหมายเลข 900219002210183 ผลตรวจสอบสภาพร่างกายภายนอกไม่พบบาดแผลใดๆ การแสดงออกทางพฤติกรรมตามธรรมชาติได้ปกติ และมีคะแนนค่าความสมบูรณ์ทางร่างกาย (Body Condition Score) ที่ 3/5 เช่นเดียวกับร็อกกี้
หลังจากการตรวจสอบอย่างละเอียด คณะเจ้าหน้าที่ได้ลงความเห็นว่าสามารถเคลื่อนย้ายสิงโตทั้ง 2 ตัวได้ และได้นำสิงโตขึ้นรถยนต์ในเวลา 16.00 น. เพื่อเดินทางไปยังสถานที่ครอบครองแห่งใหม่
เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบสภาพทั่วไปของสถานที่ครอบครองสิงโตแห่งใหม่ พบว่าเป็นบ้านเดี่ยวที่มีกรงคอกสำหรับเลี้ยงสิงโตจำนวน 2 กรง มีกรงคอกพักกึ่งธรรมชาติ (Yard) มีขนาดเหมาะสมกับสัตว์ ภายในกรงคอกมีแคร่นอนและอ่างใส่น้ำ ส่วนบริเวณคอกพักกึ่งธรรมชาติ (Yard) ที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงนั้น ผู้นำตรวจแจ้งว่าจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการประมาณ 10 วัน และเมื่อปรับปรุงแล้วเสร็จจะแจ้งให้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) ทราบ เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบอีกครั้ง และข้อดีที่สำคัญคือบริเวณโดยรอบสถานที่ครอบครองสิงโตแห่งใหม่ไม่มีบ้านพักอาศัยของบุคคลอื่น ซึ่งจะช่วยลดความกังวลของชุมชนได้อย่างสิงโต
ทั้งนี้คณะเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกำหนดและหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติให้กับผู้เกี่ยวข้องทราบ สำหรับผู้ดูแลของกลางสิงโตเพศเมีย “ร็อกกี้” ต้องดำเนินการแจ้งต่อพนักงานสอบสวนในพื้นที่เพื่อรับทราบเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายของกลาง (สิงโต) จากที่อยู่เดิมไปยังสถานที่ครอบครองแห่งใหม่ และสำหรับเจ้าของสิงโตเพศผู้ “ไรลี่” ต้องดำเนินการแจ้งเปลี่ยนแปลงสถานที่ครอบครองสิงโตต่อสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) ภายใน 15 วัน
นอกจากนี้คณะเจ้าหน้าที่ยังได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลและจัดสวัสดิภาพสัตว์ป่าควบคุมชนิด ก ให้เหมาะสม โดยกรงหรือคอกต้องมีอาณาบริเวณที่เพียงพอต่อสภาพร่างกาย จิตใจ และสังคมของสัตว์ โดยต้องมีความปลอดภัยและตอบสนองพฤติกรรมของสัตว์ ต้องจัดให้สัตว์ป่าควบคุมได้รับอาหารและน้ำในปริมาณและคุณภาพที่เหมาะสมในทุกสถานการณ์ และเหมาะกับประเภท ชนิดพันธุ์ ลักษณะ สภาพและอายุของสัตว์และ
เพื่อมีสุขภาพอนามัยที่ดี มีการจัดการในการควบคุมป้องกันโรคที่เหมาะสม และให้การรักษาเมื่อสัตว์ป่าควบคุมป่วยหรือบาดเจ็บโดยไม่ชักช้า รวมถึงลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อโรคติดต่อและโรคอุบัติใหม่
และต้องจัดการไม่ให้สัตว์ป่าควบคุมได้รับความเครียด หวาดกลัว เจ็บปวด หรือทุกข์ทรมานใจโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรให้สัตว์ป่าควบคุมได้มีโอกาสแสดงออกซึ่งพฤติกรรมตามธรรมชาติที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตและพลานามัยของสัตว์ สำหรับสถานที่ครอบครองให้มั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันสัตว์ป่าควบคุมหลุดไปทำร้ายผู้อื่น และต้องจัดทำป้ายเตือนอย่างชัดเจน
ในการเคลื่อนย้าย ต้องจัดระบบอย่างเหมาะสมปลอดภัยต่อสัตว์ป่าควบคุมและไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้อื่นต้อง จัดให้มีระบบช่วยชีวิต ระบบเตือนภัย และแผนรองรับกรณีมีเหตุฉุกเฉิน ทั้งนี้กรณีทสัตว์ป่าควบคุม ชนิด ก หลุดออกจากสถานที่ครอบครอง ให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง และเมื่อสามารถจับสัตว์ป่าควบคุมนั้นกลับคืนมาได้ ให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ทันที
การเคลื่อนย้ายสิงโตทั้งสองตัวในครั้งนี้นับเป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนได้อย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงทั้งสวัสดิภาพของสัตว์และความปลอดภัยของประชาชน สอดคล้องกับนโยบายของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มุ่งเน้นการปราบปรามอาชญากรรมเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะการต่อต้านการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย และการดูแลสวัสดิภาพของสัตว์ป่าให้เหมาะสม